"แพะเลี้ยงง่ายจะตาย" หรือ "แพะเลี้ยงง่ายนิดเดียว" หรือ "เลี้ยงแพะไปเถอะไม่มีอะไรหรอก" กว่าจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำพูดเหล่านี้ ก็ได้ตัดสินใจเลิกกิจการไปแล้ว จึงได้เข้าใจคำว่า "เลี้ยงแพะไปเถอะไม่มีอะไรจริงๆ"
หรือบางท่านก็เกือบจะเลิกกิจการไปแล้ว เพราะได้ประกาศขายแพะยกฟาร์มไปแล้ว แต่เผอิญไม่มีผู้ซื้อ จำต้องกัดฟันสู้ต่อ จึงอยู่ได้ตราบเท่าวันนี้
"แพะเลี้ยงง่ายจะตาย" เป็นสำนวนของเจ้าของไร่คุณสุข & คุณสุขฟาร์ม เมื่อครั้งเตรียมการจัดชุมทางแพะสัญจรครั้งที่ 3 ทำให้ได้เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วหมายความว่าอะไรหรือท่าน เจ้าของไร่ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "ก็หมายความตามนั้น" แล้วก็หัวเราะ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเข้าใจว่าอย่างไร ส่วนผมเข้าใจว่า "เลี้ยงแพะง่าย = จะตาย"
แล้วก็ทำให้ย้อนนึกถึงคำพูดของลุงซ้ง จ.นครปฐม เมื่อครั้งได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มว่า "ผมเลี้ยงแพะเหมือนลูกเหมือนหลาน ทั้งห่มผ้า ทั้งป้อนนม ยิ่งถ้าเป็นแฝดสามละก้อ ไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอนกันเลย" แสดงว่าต้องรักและเอาใจใส่แพะจริงๆ
ก่อนตัดสินใจเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ควรศึกษาข้อมูลเรื่องแพะ ให้เพียงพอก่อน ศึกษาให้รู้ก่อนเลี้ยงเปรียบกับการเตรียมตัวแต่งงานได้เลย ต้องรู้เขารู้เรา รู้ว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไร และจะรับมือกับเขาอย่างไร ส่วนรู้เรา ต้องรู้ว่าเราชอบเลี้ยงสัตว์จริงหรือเปล่า หรือว่าเห็นว่าน่ารักจึงเลี้ยงพอเบื่อก็ปล่อยทิ้ง เรารู้ทันแพะหรือไม่ เรารู้ทันโรคแพะหรือเปล่า เตรียมหาวิธีรับมือกับปัญหาต่างๆ ไว้แล้วหรือยัง แล้วปัญหาคืออะไร? หลายท่านอาจจะพบและตอบได้แตกต่างกันไปเช่นตัวอย่างที่ได้มาจาก ดร.วีรพล สุวรรณนันต์
ท่านที่1 "ปัญหา คืออุปสรรค"
ท่านที่2 "ปัญหา คือข้อขัดข้อง"
ท่านที่3 "ปัญหา คือข้อที่จะต้องแก้ไข"
ท่านที่4 "ปัญหา คือสิ่งที่แก้ไขไม่ได้"
ท่านที่5 "ปัญหา คือคำถาม"
ท่านที่6 "ปัญหา คือส่งที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร"
ท่านที่7 "ปัญหา คือสิ่งที่ไม่รู้คำตอบ"
ท่านที่8 "ปัญหา คือสิ่งที่เราไม่รู้"
ท่านที่9 "ปัญหา คือสิ่งที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวัง"
และอื่นๆ อีกมากมาย จะเห็นว่า แค่คำว่า ปัญหา ยังจำกัดความได้แตกต่างกันไป แล้วจะแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีอย่างไร
ปัญหาที่มือใหม่พบเสมอๆ ได้แก่การคัดเลือกซื้อแพะมาเลี้ยง คือมีปัญหาตั้งแต่เริ่มเลยว่างั้นเถอะ ขอแนะนำว่า อย่าได้ซื้อแพะที่เจ้าของเดิมคัดทิ้งมาเลี้ยง เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี จะทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังและท้อถอย และหลายๆ ท่านได้ถอดใจมาแล้ว เพราะแก้ปัญหาไม่ตก
การเลี้ยงแพะสำหรับมือใหม่ คือการทำข้อสอบภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ทำแบบฝึกหัดมาก่อน หรือทำการบ้านมาไม่ดีพอ ท่านจะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยาก และสับสนไปหมดเมื่อพบปัญหาหรือข้อสอบ ไม่รู้ข้อไดถูก ข้อไดผิด ถูกทุกข้อ หรือผิดหมดทุกข้อ เช่น เมือพบว่าแพะเจ็บป่วย ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือแพะอย่างไร ลำพังเรื่องพื้นๆ ยังเป็นปัญหา แล้วเรื่องหมอ เรื่องยา ไม่ต้องพูดถึง ก็ได้แต่ถามคนอื่นๆ เป็นเรื่อยไป คนที่1 วินิจฉัยว่าอย่างนี้ คนที่2 วินิจฉัยว่าอย่างนั้น ถาม 3 คนตอบ 3 อย่าง ให้ใช้ยา 3 ตัว แล้วผู้เลี้ยงมือใหม่จะทำอย่างไร ได้แต่งง และมั่วทั่วไป เดาเอาว่า น่าจะเป็น น่าจะใช่ และสุดท้ายกลายเป็นแพะตุ๋น
ที่กล่าวมาไม่ได้ยอมรับว่ามันน่ากลัว เพียงแนะนำว่า ควรศึกษาให้รู้ก่อนเลี้ยง เช่น รู้ว่าแพะที่เราซื้อมาเลี้ยง เจ้าของเดิมได้เลี้ยงอย่างไร เลี้ยงแพะแบบไฮโซ หรือว่าเลี้ยงแพะแบบพอเพียง การกินอยู่เป็นอย่างไร เมื่อมาอยู่กินกับเราก็ควรให้เป็นเช่นเดิมไปก่อน ถ้าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็ให้ค่อยเป็นค่อยไป อย่างหักด้ามพร้าด้วยเข่า จะได้ไม่คุ้มเสีย
ถ้าท่านดูแลแพะอย่างเอาใจใส่และใกล้ชิด ว่างๆ ลองตั้งโจทย์ปัญหาถามตอบเล่นๆ เชื่อว่าเมื่อพบปัญหาเกิดขึ้นจริง ย่อมแก้ไข ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
"ยา ไม่ใช่ ขนม"
ผู้เลี้ยงบางท่านเป็นห่วงสุขภาพแพะมาก พอได้แพะมาเข้าฟาร์ม ก็จัดการปูพรมระดมฉีดยาขนานใหญ่ ทั้งฉีดวัคซีน ฉีดบำรุง ฉีดถ่ายพยาธิ และได้ผลทันตาเห็น "ตาย" แต่ไม่ใช่พยาธิ กลับกลายเป็น "แพะ" เพราะแพะแพ้ฤทธิ์ยา เรียกว่า ยาแผลงฤทธิ์
ยา ไม่ใช่สิ่งวิเศษเจ็ดอย่างที่ใครต่างหวัง แต่ยาคือวัตถุ หรือสารมีฤทธิ์และสามารถออกฤทธิ์ได้
ยา มีอิทธิฤทธิในตัว มีกระบวนการออกฤทธิ์ เมื่อยาออกฤทธิ์ ย่อมมีผลกระทบต่อส่วนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ
ยา เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ย่อมมีกระบวนการขับออกจากร่างกายเช่นกัน ถ้าขับไม่ออกเรียกว่าสารตกค้าง
*** ยา ใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น ***
ยา ไม่ใช่ขนมผสมน้ำยา ฉะนั้นการใช้ยาควรเป็นหน้าที่ของหมอหรือสัตวแพทย์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ หาไม่แล้วถ้ายาแผลงฤทธ์ ย่อมเกิดการสูญเสียมากกว่าคุณประโยชน์ แล้วจะพาลโทษว่า "ยาไม่เป็นยาเลย"
วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550
การเลี้ยงแพะ "ง่าย "จริงหรือ ?
เขียนโดย Unknown ที่ 11:44 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, การเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์
วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550
หรือว่า "เลี้ยงแพะ" จะดีจริง
นิตยสารโลกปศุสัตว์ ได้รายงานราคาปศุสัตว์ เอาไว้น่าสนใจทีเดียว หนึ่งในนั้นก็คือ "แพะ" ความต้องการยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของแพะเนื้อและแพะนม แต่ปัจจุบันปริมาณแพะที่ผลิตได้ในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้การบริโถคจะอยู่ในเฉพาะกลุ่มมุสลิม ซึ่งความต้องการใช้เนื้อแพะคนละไม่ต่ำกว่า 15 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพื่อการบริโภคและใช้ในพิธีกรรม ซึ่งประชากรมุสลิมมีอยู่ประมาณ 5% ของประชากรทั้งประเทศ
การผลิตที่ไม่พอเพียงส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านสายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่แพะที่เลี้ยงเป็นพันธุพื้นเมือง ที่การเจริญเติบโตหรือให้เนื้อค่อนข้างต่ำ แต่การจัดการค่อนข้างง่าย ปัจจุบันได้มีการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศ เข้ามาปรับปรุงสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งได้รับความสนใจจากคนเลี้ยงเป็นอย่างดี
สำหรับราคาแพะเป็นอยู่ที่ 60-65 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเขียงจำหน่ายกิโลกรัมละ 80-120 บาท ส่วนราคาจำหน่ายพันธุ์ในประเทศ แพะพื้นเมือง อายุ 3 เดือนขึ้นไป ตัวละ 2,000-5,000 บาท
แล้วปริมาณแพะจำนวนเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ คำถามนี้ขอตอบแบบอธิบายย่อๆ ดังต่อไปนี้
ถ้าประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านคน จำนวนประชากรมุสลิม 5% เท่ากับ 3 ล้านคน ถ้ามุสลิม 1 คนมีความต้องการใช้เนื้อแพะประมาณ 15 กิโลกรัมต่อปี ประชากร 3 ล้านคนต้องใช้เนื้อแพะถึง 45 ล้านกิโลกรัมต่อปี
แล้วแพะจำนวน 45 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นตัวได้กี่ตัว ข้อนี้ ตอบอธิบายสั้นๆ ว่าถ้าแพะหนึ่งตัวเนื้อน้ำหนักเฉลี่ย
20 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 2 ล้าน 2 แสน 5 หมื่นตัว (2,250,000)
30 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 1 ล้าน 5 แสนตัว (1,500,000)
40 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 1 ล้าน 1 แสน 2 หมื่น 5 พันตัว (1,125,000)
50 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 9 แสนตัว (900,000)
จากรายงานของกรมปศุสัตว์ ปี 2549 ประเทศไทยสามารถผลิตแพะรวมได้ประมาณ 3 แสนตัว นับว่ายังขาดแพะเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะแพะที่สามารถทำการค้าขายได้ประมาณ 10-30% ของจำนวนแพะที่เกษตรกรเลี้ยง ที่เหลือเก็บไว้เป็นแพะต้นทุนบ้าง แพะท้อง แพะแรกคลอดหรือแพะยังไม่หย่านม และยังมีแพะจำนวนหนึ่งถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จึงเป็นการดูดแพะออกไปจากตลาดภายในประเทศด้วย
มาเลี้ยงแพะกันดีกว่า
ชุมทางแพะ ขอสนับสนุนให้เกษตรกรไทย หันมาสนใจทำอาชีพการเลี้ยงแพะ อาจเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงเพื่อเสริมอาชีพที่มีอยู่เดิม ไว้เป็นตัวเลือกในการปรับพัฒนาอาชีพในอนาคต เพราะอะไรหรือถึงกล้ากล่าวเช่นนี้ ลองมาดูเหตุผลข้อเด่นข้อด้อยเพื่อเปรียบเทียบดูดังต่อไปนี้
ข้อเด่นที่เห็นมีดังนี้
1. ผู้เลี้ยงส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อย ใช้แรงงานในครัวเรือน และใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเป็นอาหารแพะ ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ เช่น ปลูกข้าวโพดหักฝักขาย แล้วใช้ต้นและใบเป็นอาหารแพะ
2. ในหลายท้องที่มีวัตถุดิบอาหารแพะราคาถูกและเพียงพอสำหรับการเลี้ยง
3. การผลิตยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงไม่มีปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาด
4. พ่อพันธุ์แม่พันธุ์คุณภาพดียังขาดแคลนและราคาสูง
แล้วข้อที่ไม่เด่นมีอะไรบ้าง จะได้ปรับปรุง และแก้ไขต่อไป
1. ผู้เลี้ยงเป็นเกษตรกรรายย่อย ขาดการรวมกลุ่ม ทำให้ยากต่อการควบคุมปริมาณและคุณภาพการผลิต ชุมทางแพะ สนับสนุนการรวมกลุ่มกันมาตลอด
2. ยังไม่ปลอดโรค นับว่าเป็นปัญหาที่ทำร้ายเกษตรกรตลอดมาและก็คงตลอดไปอีกนาน
3. การใช้พื้นที่ของเกษตรกรยังไม่เหมาะสม ทำให้พืชอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ บางคนมีพื้นที่เพียงไม่กี่ไร่แต่อยากเลี้ยงแพะเป็นร้อยๆ ตัว พอหน้าเลี้ยงแพะผอมบักโกรกเพราะกินไม่อิ่ม ก็โดนหลอกซื้อว่าแพะเป็นพยาธิ อมโรค ผอมกะหร่อง กะแหร่ง
4. ต้องสร้างโรงเรือนให้แพะได้นอนที่สูง ทำให้มีต้นทุนสูงไปด้วย ผลตอบแทนต้องใช้เวลานาน และขาดแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
5. ขาดแคลนพันธุ์แพะคุณภาพดีและมีราคาสูง
6. การซื้อขายแพะยังไม่มีมาตรฐานทั้งในด้านคุณภาพและราคา
7. ขาดการประชาสัมพันธ์ การสร้างค่านิยมในการบริโภคทั้งนมแพะและเนื้อแพะ ยังมีความคิดอคติว่ามีกลิ่นสาป
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ดูแล้วในอนาคต การเลี้ยงแพะจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะเป็นการเลี้ยงแพะเพื่อการค้า หรือการเลี้ยงแพะเชิงธุรกิจ หรือการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ แล้วแต่ใครจะเรียก แต่ชาวบ้านเรียกว่า การเลี้ยงแพะไว้ขาย
เขียนโดย Unknown ที่ 12:00 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, การเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์
วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550
เราพร้อมที่จะเลี้ยง "แพะ" แล้วหรือยัง ?
มีทำเล มีที่ มีทาง มีใจ ถ้าใครมีคำตอบครบตามนี้ย่อมพร้อมที่จะทำการเลี้ยงแพะได้แล้ว หลายๆ ท่านอาจจะแย้งว่า มันง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ
ยังดอกครับท่าน อย่าเพิ่งเชื่อ "เพราะการลงทุน ย่อมมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญาณ ก่อนตัดสินใจ"
การเลี้ยงแพะ ที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ "การเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์"หรือ "การเลี้ยงแพะเพื่อการค้า"ดังนั้นจึงเป็นการเลี้ยงแพะเพื่อที่จะขายแพะออกไปในวันข้างหน้า
ไม่ใช่เป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภคในครัวเรือน หรือเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำก็คือ การทำฟาร์มแพะ และแน่นอนย่อมต้องมีการลงทุนแน่ๆ
ฉะนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน เราต้องสำรวจความพร้อมของเราดูก่อนว่า ตั้งอยู่บนความเสี่ยง หรือเปล่า เสี่ยงมาก เสียงน้อย หรือว่า สบาย สบาย และความพร้อมสำหรับการเลี้ยงแพะเพื่อการค้านั้นมีอะไรบ้างที่ควรจะทราบ เรามาลองสำรวจกันดีกว่า
จากข้อความข้างต้น มีทำเล มีที่ มีทาง มีใจ ย่อมมีชัยในการเลี้ยงแพะจริงหรือ ขอเริ่มต้นนำท่านไปสำรวจทำเลกันก่อนก็แล้วกัน
"ทำเล" คือสถานที่สำหรับจะทำการเลี้ยงแพะ ควรเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสัตว์หรือแพะ ถ้าท่านตอบว่า เยี่ยมเลย ทำเลดีมากครับ ไปมาสะดวก มีทุ่งหญ้า บริเวณโล่งกว้าง มีภูเขา สุมทุมพุ่มไม้เขียวขจี ต้นไม้เล็ก ต้นไม้ใหญ่ มีเต็มไปหมด มีห้วย คลอง หนองน้ำ ตลอดปีไม่มีหมด ถ้าได้ทำเลแบบนี้คำตอบคือทำเลของท่านพร้อมมากๆ ทีเดียวเชียว
แล้วถ้าไม่ได้อย่างที่กล่าวแล้วจะเลี้ยงแพะไม่ได้เลยหรือ คำตอบคือสามารถเลี้ยงแพะได้ แต่สิ่งเหล่านั้นคือแหล่งอาหารแพะตามธรรมชาติ เป็นการลดต้นทุนในด้านการจัดการอาหารแพะ อีกวิธีหนึ่ง แต่เราสามารถสร้างแหล่งอาหารขึ้นมาเองตามรูปแบบธรรมชาติได้ ดังนั้นถ้าท่านมีแหล่งอาหารก็ถือว่าพร้อมเช่นกัน
"มีที่" คือ ที่อยู่ ที่มา และที่ไป ที่อยู่ก็คือบ้านของแพะ หรือที่เรามักเรียกกันว่าโรงเรือนแพะ ซึ่งก็คือที่ตั้งฟาร์มแพะของเราในอนาคตนั่นแหละ ถ้าท่านตอบว่า ไม่ต้องห่วงหรอก มีที่เหลือเฟือ เลี้ยงแพะได้เป็นร้อยๆ ด้านหลังติดภูเขา ด้านหน้าติดลำคลอง ด้านข้างเป็นที่ว่างเปล่า มีต้นกระถินขึ้นเต็มไปหมด พูดง่ายๆ คือ เรามีสินค้าคุณภาพดีที่พร้อมจะขาย
ที่มาและที่ไป ก็คือการวางแผนฟาร์มแพะในอนคตหลังจากการตัดสินใจที่จะเลี้ยงแพะแล้ว
ที่มา คือแพะที่เราจะนำมาเลี้ยง มาจากไหน ประวัติเป็นมาอย่างไร ดี หรือไม่ดี แค่ไหน พูดง่ายๆ ก็คือ การหาสินค้าดีๆ เข้ามาไว้ขายในอนาคต
ที่ไป คือตลาด หลังจากที่ตัดสินใจทำฟาร์มแพะแล้ว ไปขายที่ไหน ราคาเท่าไร ใครซื้อ พูดง่ายๆ คือ ตลาดดีๆ ที่สินค้าดีๆ ของเราจะไปขายได้ราคาดี
ที่มาที่ไป คือเรารู้จักแพะดีพอแล้วหรือ ถ้าท่านตอบได้ว่า
แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก กระเพาะสี่ มีเขากลวง มีเท้าเป็นกีบ ตั้งท้องประมาณ 150 หากินเก่ง ชอบกินใบไม้มากกว่าหญ้า ชอบนอนที่สูง มีโรคที่สำคัญคือแท้งติดต่อ ปากเท้าเปื่อยและพยาธิ ถ้าท่านพูดได้ขึ้นใจขนาดนี้แสดงว่าท่านได้ค้นหาข้อมูลมาพอสมควรแล้ว ย่อมตัดสินใจได้ว่า จะซื้อแพะอย่างไร ขายแพะอย่างไร และสร้างโรงเรือนแพะอย่างไร อย่าลืมว่าโรงเรือนไม่ใช่สิ่งอวดอ้างความสำเร็จ ควรลงทุนตามความเหมาะสม
มีทาง แน่นอนเราคงต้องการทางที่เป็นได้มากที่สุด เราคงไม่ต้องการทางอื่น มีอะไรบ้างที่พอจะสำรวจความพร้อมเรื่องทางนี้ เอาหลักๆ ก็แล้วกัน
การจัดการฟาร์ม นับว่าเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจได้เลย เพราะฟาร์มแพะของเรา ก็คือธุรกิจของเรา บางคนเก็บเงินสะสมมาทั้งชีวิตนำมาลงทุน แต่บางคนเพียงแบ่งเงินเดือนมาไม่กี่เดือนก็ทำฟาร์มแพะได้แล้ว แสดงว่ากลุ่มนี้เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมีรายได้ประจำอยู่แล้ว แต่อยากมีรายได้เพิ่มด้วยการทำธุรกิจฟาร์มแพะ หรือบางท่านวางแผนเพื่อเปลี่ยนแนวทางชีวิตในอนาคต
แล้วเราต้องจัดการเรื่องใดเป็นที่สำคัญก่อนหลัง ข้อนี้ตอบได้ยากพอสมควร เพราะคำตอบสำเร็จรูปไม่มีขาย แต่ละคนมีความสามารถได้แตกต่างกัน ขอกล่าวโดยทั่วๆ ไปก็แล้วกัน คือการจัดการบุคลากร กับการบริหารเวลา
บุคลากรของฟาร์มมีใครบ้าง ตัวเรา เป็นลูกจ้างของฟาร์มเรา หรือมี คนงาน เป็นลูกจ้าง ใครรับผิดชอบดูแลส่วนไหน เช่น การติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ การเลี้ยงดู การดูแลสุขภาพแพะ หรือว่า คนงาน รับผิดชอบทั้งหมด
การบริหารเวลา ก็สำคัญ เพราะทุกคนมีเวลาวันละเท่าๆ กัน ในแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวัน ใครรับผิดชอบส่วนไหนของฟาร์ม ในหนึ่งวันเรามีเวลาเข้าไปจัดการฟาร์มหรือเปล่า หรือยกให้ คนงาน บริหารทั้งหมด
โปรดจำไว้ว่า หลายๆ ฟาร์มต้องเลิกกิจการไป เพราะมอบหมายให้ คนงาน เป็นผู้จัดการทั้งหมด เดี๋ยวขอขึ้นเงินเดือน ถ้าไม่ขึ้นให้เดี๋ยวขอลาออก ถ้าไม่ให้ลาออก เดี๋ยวก็ได้รับรายงานว่าแพะตาย ไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะสาเหตุใด บางฟาร์มเปลี่ยนคนงาน เป็นประจำ สุดท้ายเลิกกิจการ
เงินของเรา หยาดเหงื่อของเรา ทุกบาททุกสตางค์ล้วนทำงานแลกมา จงระมัดระวังในเรื่องการจัดการ แล้วจะหาคำตอบได้ไม่ยากว่าพร้อมหรือยัง
มีใจ จะเอากี่ใจดีละครับ หนึ่งใจ สองใจ หรือว่าสามใจ เอาทีละใจก็แล้วกัน
ใจรัก เราเป็นคนรักสัตว์หรือเปล่า โดยเฉพาะแพะ ซน และสามารถทำความเสียหายให้กับพืชผัก ของเราเองและของเพื่อนบ้านได้ ถ้าป้องกันไม่ดีพอ เป็นห่วงแพะแค่ไหน ถ้าไม่ได้เข้าฟาร์ม ลองคิดหาคำตอบดู
เอาใจใส่ ไม่ใช่แค่รักแพะ ชอบแพะ แล้วจะไปรอด อย่าลืม เอาดวงใจของเขามาใส่ใจของเรา เขาจะทุกข์จะสุขอย่างไร ก็เงินในกระเป๋าของเรา แพะเจ็บได้ ป่วยได้ และก็ตายได้ แต่พูดไม่ได้ แล้วใครจะช่วยแพะได้ โปรดทบทวนอีกครั้ง
ใจถึง คงไม่ต้องอธิบายมาก ต้องยอมรับได้ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ต้องพร้อมที่จะสู้ถ้าไม่เป็นไปตามแผนการที่เราได้วางไว้ พร้อมที่จะหาจุดบกพร่อง แล้วเริ่มการแก้ไข แน่นอนว่าถ้าเลี้ยงแพะแล้ว อย่างน้อยก็ใช้เวลาเป็นปี กว่าจะมีลูกมีหลานให้ได้ขาย แล้วระหว่างที่เลี้ยงอยูล่ะ เรากินอะไร มีคำตอบพร้อมแล้วหรือยัง
ถ้าพร้อมแล้วลุย
เขียนโดย Unknown ที่ 15:59 3 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, การเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์
วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550
พฤติกรรมการคลอดของแพะ
ผมเลี้ยงแพะโดยการปล่อยเลี้ยงแบบไล่ต้อนตามที่สาธารณะ และปล่อยให้แพะผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติแบบตัวผู้คุมฝูง แล้วจะรู้ได้อย่างไรครับ ว่าแพะท้องแก่และใกล้จะคลอดแล้ว
ข้อนี้ไม่เป็นปัญหาครับ ถ้าจำวันผสมไม่ได้ หรือไม่รู้อะไรเลย รู้แต่ว่าแพะมันท้องแล้ว ก็ให้ใช้วิธีสังเกตอาการภายนอกก็แล้วกัน เพราะปกติแล้วแพะจะท้องนานประมาณ 150 วันบวกลบแต่ไม่ควรเกิน 5 วัน เพราะถ้าผิดไปจากนี้แล้วแสดงว่าเป็นอาการที่ผิดปกติ ต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์โดยด่วน
ขวนการคลอดของแพะ
เรามาดูอาการกันดีกว่าว่าแม่แพะจะมีอาการอะไรบ้างให้เป็นที่สังเกต ตามตำราการเลี้ยงแพะ ของอาจารย์สมเกียรติ สุวรรณสมุทร เขียนไว้ว่า วันที่ใกล้คลอดเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น จนถึงระยะ 1-2 วันกล่อนคลอดเต้านมจะเต่งตึงมาก และมีน้ำนมคั่งหรือไหลออกมา ท้องหรือสีข้างจะยุบตัวลง อวัยวะเพศบวมแดง และมีน้ำเมือกไหลออกมา
แม่แพะจะมีอาการหงุดหวิด กระวนกระวาย เดินวนไปวนมา ผุดลุกผุดนั่งหรือส่งเสียงร้อง ใช้ขาตะกุยที่นอนไปรอบๆ หรือใช้จมูกดมตามพื้น แม่แพะจะทำท่าเบ่งท้องหลายครั้ง น้ำเมือกที่อวัยวะเพศจะข้นมากขึ้น และขาวในที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าแม่แพะจะคลอดลูกภายใน 1-2 ชั่วโมงข้างหน้า
การคลอด แม่แพะจะยืนคลอด โดยมีถุงน้ำคร่ำออกมาก่อน เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก็จะเห็นลูกแพะโผล่ออกมาตามแรงเบ่ง ตามด้วยจมูก หัว และลำตัวในที่สุด เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วแม่แพะก็จะเลียตามตัวลูกจนสะอาด โดยเริ่มเลียที่จมูกลูกเพื่อจะได้รับอากาศทำให้หายใจสะดวก ต่อจากนั้นลูกแพะจะพยายามทรงตัวลุกขึ้นยืน และลูกแพะจะหาเต้านม เมื่อพบแล้วจะเริ่มดูดนม กระดิกหางอย่างมีความสุข แสดงว่าแม่มีน้ำนมไหลให้ลูกได้ดูดกินแล้ว และแม่ก็จะยืนเลียตัวลูกแพะจนกว่าเนื้อตัวจะแห้ง
ทำไมแพะชอบคลอดตอนกลางคืน
เรื่องนี้คุณหมอฟาร์มดี (Vetfarmde)บอกว่า "เป็นเพราะสัญชาตญาณความปลอดภัยค่ะ แต่ก่อนเขาอยู่ในป่าต้องหลบหลีกผู้ล่าให้ดีจึงต้องอาศัยสถานะการณ์ที่เงีบย สงบ และให้ความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งก็คือเวลากลางคืนนั่นเอง แต่เมื่อเขามาอยู่กับเราเขาก็ยังคงมีสัญชาตญาณความปลอดภัยอยู่
ฉนั้นเราจึงควรมีคอกคลอดให้เขาได้รู้สึกปลอดภัย และไม่ถูกรบกวนจากแพะตัวอื่นๆ ที่สำคัญคอกคลอดนั้นยังลดปัญหาการติดเชื้อ การดูแลก็ง่ายขึ้นสำหรับเรื่องควบคุมอุณหภูมิ ด้วยค่ะ" สรุปว่าห้ามรบกวนกระบวนการคลอดของแพะจะดีกว่า ดูอยู่ห่างๆ ก็พอเผื่อมีอะไร จะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงทีครับ
ขอขอบคุณภาพจาก Growning Small Farms
เขียนโดย Unknown ที่ 15:36 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พฤติกรรมการคลอดของแพะ, พฤติกรรมของแพะ
วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550
เพราะรัก จำต้อง "ฆ่า"
วันนี้มีโอกาสได้ร่วมวงกินข้าวกับสาวๆ ในออฟฟิช ทั้งสาวเหลือน้อยและสาวไม่มาก ไม่รู้เป็นอะไรกัน นั่งเม้าท์กันในวงข้าว เรื่องราว ของ "นวลฉวี" และที่เพิ่งปิดคดีไปเมื่อไม่นานนี้ และอื่นๆ อีก 2-3 เรื่องที่เป็นตำนาน "หมอฆ่าเมีย" แล้วทำไมต้องฆ่า ฆ่าแล้วทำไมต้องหั่น หรือทำไมต้องชำแหละ ทำไม ทำไม เขาเป็นอะไร ????
โรคแพะ ปัญหาสาธารณสุข และปัญหาเศรษฐกิจ
และวันนี้ทำให้นึกถีงเรื่องราวของสมาชิกชุมทางแพะท่านหนึ่ง ที่อยู่ร่วมชะตาเดียวกันคือ "จำต้องฆ่า แม้ว่ายังรัก" ทั้งเสียใจและแสนเสียดาย เพราะนี่คือการสูญเสีย เป็นการเสียทั้งทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ
เรื่องราวมีอยู่ว่าสมาชิกท่านนี้ได้ทำการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มเพื่อให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สนองโครงการ "อาหารปลอดภัย" คนเลี้ยงปลอดภัย คนซื้อปลอดภัย คนขายปลอดภัย คนแปรรูปปลอดภัย และคนกินก็ปลอดภัย
หลังจากให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เจาะเลือดนำไปตรวจเพื่อพิสูจน์ทราบและวินิจฉัยโรค ว่าเป็นบรูเซลโลซิส (Brucellosis) หรือไม่ ผลปรากฏว่า เป็นผลลบ ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ เป็นอย่างยิ่ง เพราะสันนิฐานว่าเป็นโรคบรูเซลโลซิส และในจำนวนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ เป็นแพะท้องซะหลายตัว นั่นหมายถึง รายได้ในอนาคตที่จะได้รับจะต้องหลุดหายไปอย่างน่าเสียดาย เสียรายได้ เสียโอกาส และเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เพราะว่ามีแพะที่ตั้งท้อง ผู้เลี้ยงท่านนี้ไม่สามารถลบออกจากระบบได้ จะฆ่า ก็ฆ่าไม่ลง เพราะว่าแพะมันท้อง ดังนั้นจึงต้องเลี้ยงดูต่อไป และต้องลำบากจัดหาที่ทางเพื่อกักบริเวณ ไม่ให้มีโอกาสได้คลุกคลีกับแพะตัวอื่นๆ ปล่อยให้คลอดแล้วจึงค่อยลบ (Delete) ออกไปทั้งแม่ทั้งลูก
ด้านปัญหาสาธารณสุขที่ตามมาก็คือ โรคนี้เป็น"โรคสัตว์สู่คน"โรคสัตว์สู่คนแปลว่า ปกติแล้วเป็นในหมู่สัตว์แต่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ เมื่อเกิดขึ้นในคนแล้วจะไม่สามารถแพร่ไปสู่คนด้วยกัน นับว่าเป็นการสูญเสียกันยกใหญ่
ดังนั้น ต้องทำการตรวจโรคแพะก่อนทุกครั้ง จึงนำเข้าฟาร์ม ห้ามนำแพะที่ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด และตรวจทดสอบโรคปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย นี่คือการป้องโรคกันที่ดีเพราะว่า "โรคบรูเซลโลซิส ยังไม่มียารักษา"
รู้จักโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis)
โรคนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า "โรคแท้ง" หรื่อ "แท้งติดต่อ" หรือ"แท้งต่อเนื่อง" เพราะเมื่อเป็นโรคแล้วแพะมักจะมีอาการแท้งลูก (แพะเมื่อแท้งลูกแล้วในระยะหลังมักจะไม่พบการแท้งลูกอีก)
บรูเซลโลซิสในแพะมีสาเหตุจากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bruceela melitensis
แหล่งรังโรคคือ สัตว์ที่แท้งลูกพร้อมลูกสัตว์ สารคัดหลั่งต่างๆจากสัตว์ที่แท้ง จะทำให้บริเวณเลี้ยงสัตว์นั้นปนเปื้อน
การแพร่โรคจากฝูงหนึ่งไปอีกฝูงหนึ่งโดยมากเกิดจากการเคลื่อนย้ายสัตว์เป็นโรคที่ตั้งท้อง หรือ จากนำสัตว์พ่อพันธุ์เข้าฝูง
หรือบางครั้งอาจจะแพร่โรคโดยสุนัข โดยการกัด-แทะ และเคลื่อนย้ายซากลูกสัตว์ที่เป็นโรคไปตามที่ต่างๆ
เชื้อบรูเซลลา ถูกขับออกมาในน้ำนมได้นานเป็นปีหรือมากกว่า หลังจากสัตว์แท้งลูกสัตว์จะปล่อยเชื้อออกมาเป็นจำนวนมากในมดลูก สารคัดหลั่งที่ออกมาจากมดลูก และปัสสาวะ เป็นระยะ 1-3 วันหลังคลอด และจะปล่อยเชื้อได้นาน 4-6 เดือน
ในสัตว์ที่ไม่ตั้งท้องจะเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะเป็นตัวอมโรคและแพร่โรคได้ ส่วนตัวผู้มักพบอัณฑะอักเสบ
(สัตวแพทย์หญิงมนยา เอกทัตร์ กลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา )
การติดต่อของโรคบรูเซลโลซิส
1. โดยตรง เช่น การกิน, การสัมผัส
2. โดยอ้อม ไม่เจตนา แต่มาทางอากาศ เช่น การหายใจ ว้าว น่ากลัวจังเลย
โรคแท้งติดต่อ มีทางออก
โรคนี้ ติดทางสิ่งคัดหลั่งและการสัมผัส เช่น ผสมพันธุ์ เลีย ปัสสาวะ อุจจาระ
การตรวจ ใช้น้ำเลือด(ซีรั่ม) ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กทม. อยู่ในรั้วเดียวกันกับ ม.เกษตร อยู่ด้านหลังกรมป่าไม้
การตรวจที่ให้ผลลบ พอตรวจซ้ำให้ผลบวก นั้นไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของห้องแลบ แต่เป็นเพราะเจ้าเชื้อนี้มันสามารถหลบซ่อนได้ ทำให้เราเดี๋ยวเจอเดี๋ยวไม่เจอ อาจเป็นเหตุให้คนขัดแย้งกันได้
วิธีที่ใช้ตรวจนี้มีความไวมาก รู้ผลเร็ว และแนะนำให้ตรวจเดือนละ 1 ครั้งจนกว่าจะได้ผลลบทั้งฟาร์มติดกัน 3 ครั้ง จึงขยับไป อีก 6 เดือน และ 1 ปีได้ ที่ต้องตรวจเข้มขนาดนี้ เพราะว่ามันแพร่กระจายได้ง่าย ติดคนแล้วตายได้ และที่สำคัญมันหลบซ่อนในต่อมนำเหลืองได้เก่ง ถ้าเจอถือว่าโชคดีทีเดียว
อย่าได้เสียดายหรือเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ให้ตัดใจทำลายทิ้ง
อย่าขายต่อเพราะจะเป็นการทำร้ายกันเอง
คนต้องดูแลตัวเอง ด้วยหลักแห่งความสะอาดนั้นเพียงพอต่อการป้องกันตัว คนเชือดจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนกินสุก
เวลาเราไปเยี่ยมฟาร์มขอให้ช่วยกันจุ่มเท้าจุ่มล้อรถ
และอย่าจับแพะคนอื่นโดยไม่ล้างมือก่อนและหลัง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพในทรัพย์ของกันและกัน ค่ะ
ปล. ตรวจได้ทุกเพศทุกวัย ยกเว้น ลูกอายุต่ำกว่า 3 เดือน เพราะตรวจไปจะไม่เจอ
(พรหล้า, กระทู้ชุมทางแพะ)
ขอขอบคุณภาพจาก Skeptics Society และ fao
เขียนโดย Unknown ที่ 10:08 1 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: บรูเซลโลซีส Brucellosis, โรคแพะ, สุขภาพแพะ
วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2550
คนบ้าบอร์ (บัวร์)
ไอ้ผมนะ มันคนบ้าบอ ใครจะว่ายังไงก็ชั่ง ผมก็ยังบ้าบอ คุณโกร่งอาจจะบ้าแองโกล หรือซาแนน แต่ผมยังไงๆ ก็ต้องบอร์ แหม.. ฟังแล้วเข้าใจเกือบผิด ตกลงว่าบอร์ ไม่ใช่บอ ..เป็นเสียงของสมาชิกชุมทางแพะ รายงานถึงความก้าวหน้าของตนให้ฟัง ว่าตอนนี้เขาได้บอร์ลูกผสมแล้ว และตั้งใจเอาไว้ว่าจะทำตลาดกับเจ้าตัวนี้แหละ ถึงใครจะว่ามันมีน้ำนมน้อย ไม่พอเลี้ยงลูกแฝด แต่เขายังไม่ยอมปักใจเชื่อ อาจจะเป็นเพราะคนที่พูด บำรุงน้ำนมไม่ถูกวิธีก็เป็นได้ สมาชิกชุมทางแพะเน้น
บอร์(บัวร์)Boer เป็นใคร มาจากไหน
เรามาตามหาบอร์ (บัวร์) กันดีกว่า ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หน้าตาเป็นแบบไหน หล่อ เท่ห์ระเบิด สวยเริด ประเสริฐศรี เพียงใด ทำไมหนอ ถึงใครต่อใคร ต่างก็อยากได้มาครอบครองกันจัง
สมาคมแพะพันธุ์บอร์ (บัวร์) สหรัฐอเมริกา (American Boer Goat Association,ABGA)กล่าวไว้ว่า แพะพันธุ์บอร์(บัวร์)ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อต้นศตวรรษปี 1900 ซึ่งคำว่า บอร์หรือบัวร์ (Boer)เป็นภาษาดัช (เป็นภาษาของชนเผ่าในประเทศเนเธอร์แลนด์)ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Farmer นะเอง สืบย้อนไปได้ว่า เกษตรกรชาวดัช (Dutch)แห่งประเทศอัฟริกาใต้คนนี้เป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์นี้ขึ้นมา โดยตั้งหลักอยู่บนพื้นฐานเพื่อการผลิตแพะเนื้อคุณภาพเยี่ยม อัตราการเจิญเติบโตเร็ว และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เก่ง อันนี้ขอให้คิดถึงสภาพแวดล้อมของประเทศแถบอัฟริกาใต้เป็นหลักก็แล้วกัน
รูปพรรณสันฐานของ บอร์(บัวร์) เป็นเช่นไร
โดยปกติแล้วบอร์(บัวร์)ทุกสายพันธุ์ จะต้องมีขนเป็นมัน หัวและคอมีขนสีน้ำตาลแดง ลำตัวขนสีขาว เท่าที่พบก็จะมี สายพันธุ์ขนสั้น, สายพันธุ์ขนยาว, สายพันธุ์มีเขา, และบางท่านบอกว่าสายพันธุ์ไม่มีเขาอีกหนึ่ง (ซึ่งข้อนี้ขอสงวนสิทธิ์เอาไว้ก่อนว่าจะหาข้อมูลเพิ่มเติม ละไว้ในฐานยังไม่แน่ใจว่าจะเชื่อก็แล้วกัน แต่ก็ขอเล่าสู่กันไว้)
รูปร่าง โครงสร้างใหญ่และน้ำหนักตัวดี โดยตัวผู้โตเต็มวัยหนักประมาณ 90 กิโลกรัม ตัวเมีย หนักประมาณ 65 กิโลกรัม น้ำหนักแรกคลอด ประมาณ 4 กิโลกรัม
หัวโหนก หน้างอก, จมูกโด่งและงุ้ม, มีเขาห้อยลงแล้วโค้งไปทางหู, เหล่านี้คือลักษณะเด่นหลักๆ ในการพิจารณาลักษณะภายนอกด้วยสายตาของแพะพันธุ์บอร์ อย่างไรเสียใบรับรองพันธุ์ประวัติและหนังสือพาสปอร์ตแพะย่อมเป็นสิ่งยืนยันประกอบได้ดีกว่า
สำหรับประเทศไทยมีผู้นำเข้าทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ก็ลองซื้อหามาครอบครองเป็นเจ้าของกันได้ ยังไงๆ ก็ขอให้ได้บอร์พันธุ์แท้(บริสุทธิ์) ก็แล้วกัน จะได้อวดเพื่อนๆ ได้ว่าเราก็มี "ราชาแห่งแพะเนื้อ " กับเขาเหมือนกัน ขออย่าได้เป็นเช่นหลายๆ คนที่ได้บอร์ร้อยมา ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจชัดนักว่า ได้บอร์ร้อยมา แปลว่าอะไร
ภาพจาก Lino Rulliและ boer-show-goatsและ the 4-H Meat Goat
เขียนโดย Unknown ที่ 18:20 4 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พันธุ์แพะ, แพะพันธุ์บอร์ (บัวร์)
วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550
พยาธิ ศัตรูร้าย ผู้ไม่เคยญาติดีกับแพะตัวใด
พยาธิ คือ ใคร
พยาธิ ๑ [พะยาทิ] น. ความเจ็บไข้ เช่น โรคาพยาธิ ชาติชราพยาธิ. (ป. พฺยาธิ, วฺยาธิ; ส. วฺยาธิ).
พยาธิ ๒ [พะยาด]. น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งอย่างน้อยในระยะหนึ่งของ ชีวิตจะเป็นปรสิตอยู่ในมนุษย์และสัตว์ ชนิดตัวแบน เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด ชนิดตัวกลมหรือหนอนพยาธิ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิ เส้นด้าย พยาธิแส้ม้า
ปรสิต, ปรสิต- [ปะระสิด, ปะระสิดตะ-] น. (แพทย์) สัตว์พวกพยาธิที่อาศัยอยู่ใน มนุษย์และสัตว์; (เกษตร) ตัวเบียน เช่น กาฝาก. (อ. parasite).
ข้างต้นนี้เป็นความหมายของคำว่า พยาธิ ตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัญฑิต
ดังนั้น พยาธิ จึงเป็นสิ่งมีชีวิตประเภท ปรสิต ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการแย่งและดูดซึมสารอาหาร และสืบพันธุ์ในร่างกายของคนและสัตว์ ที่มันอาศัยอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือนอกจะจะขออาศัยแล้วยังเบียดเบียนอาหารและทำร้ายผู้ที่ให้อาศัยอีกต่างหาก บางชนิดก็ก่อให้เกิดอาการทรุดโทรม อ่อนแอ หรือในรายที่รุนแรงก็ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา
พยาธินั้นสำคัญต่อแพะไฉน
พยาธิมีความสำคัญต่อการเลี้ยงแพะมากทีเดียว เพราะถ้าเราเลี้ยงแพะที่เป็นพยาธิมากๆ แต่รอดตายมาได้ ก็มีลักษณะแคระแกร็นเลี้ยงไม่โต สิ้นเปลื่องอาหาร กินเข้าไปเท่าไรพยาธิก็แย่งกินไปหมด และเสียเวลาเลี้ยงดูโดยเปล่าประโยชน์ การเลี้ยงแพะจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ได้กำไรหรือขาดทุน ปัญหาเรื่องพยาธิก็มีส่วนทำให้หลายๆ ท่านเลิกเลี้ยงแพะไปเลยก็มี เพราะไม่รู้จะรับมือกับพยาธิอย่างไร ไม่รู้ ดูไม่ออกว่า แพะเป็นพยาธิหรือไม่
จะรู้ได้อย่างไรว่าแพะเป็นพยาธิแล้ว
สำหรับมือใหม่แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คนนั้นว่าอย่างนั้น อีกคนว่าอย่างนี้ แถมตนเองก็ไม่เคยมีใครชี้แนะต่อหน้าแพะซักที จึงได้แต่ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ซึ่งหลายๆ ครั้ง และหลายๆ คน รู้สึกว่ามันแพงไปสำหรับการลงทุนทดลองวิชาแบบนี้ เพราะกว่าจะพอรู้บ้างว่าแพะเป็นพยาธิก็หมดแพะไปหลายตัว แล้วจะมีหลักการอย่างไรในการตรวจวินิจฉัยว่าแพะเป็นพยาธิ เรื่องนี้ตำราบอกว่ามีวิธีดังนี้
1. การตรวจวินิจฉัยเบี้องต้นด้วยตนเอง โดยใช้แผ่นตรวจซีด เพื่อพิสูจน์ทราบว่าแพะเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ โดยการเทียบดูตามเนื้อเยื่อบุตา เหงือก อวัยวะเพศ หรือทวาร ถ้าสีชมพูสดใสหรือออกส้มๆ ละก็นับว่าเป็นปกติดี ถ้าซีดขาว ละก็แสดงว่า จาง ถ้าแพะแสดงอาการว่าเป็นโรคโลหิตจางอย่างรุนแรง ให้สันนิฐานว่ามีพวกพยาธิดูดเลือดสิงอยู่มาก ถ้าอาการรุนแรงอาจมีอาการบวมน้ำที่ใต้คางให้ได้เห็น
แต่ที่เห็นได้เด่นชัด ก็พวกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซูบผอม ท้องเสีย อ่อนเพลีย ขนและผิวหนังหยาบกร้าน ในรายที่เป็นพยาธิตัวตืดก็จะพบปล้องของพยาธิมีสีขาวขาดหลุดปนออกมากับขี่แพะที่ถ่ายอกกมาใหม่ๆ
2. โดยการตรวจขี้แพะ เป็นขี้แพะที่ล้วงออกมาจากท้องแพะหรือขี้แพะที่ถ่ายอกกมาใหม่ๆ แล้วนำไปเข้าห้องปฎิบัติการ ส่องดูด้วยกล้องจุลทัศน์ เพื่อตรวจดูและนับไข่พยาธิ ต้องวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สะดวกนักสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะทั่วไป
3. โดยการผ่าซาก วิธีนี้ก็ให้เป็นวิธีของคุณหมอก็แล้วกัน
ดังนั้นวิธีที่ดี ก็คือการป้องกันและควบคุมพยาธิให้มีโอกาสระบาดได้น้อยที่สุด ด้วยการจัดการที่พยายามลดโอกาสของการติดพยาธิให้ได้มากที่สุด อนุญาตให้แพะติดพยาธิได้แค่พอหอมปากหอมคอ จะได้เป็นยาสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิให้กับแพะ
ภาพจาก Shepherd's Notebook
allnaturalcleanse.com
เขียนโดย Unknown ที่ 17:39 0 ความคิดเห็น
พยาธิตัวกลมในแพะ (Roundworm)
พยาธิตัวกลม ก็คือ พยาธิตัวกลมๆ มีขนาดแตกต่างกันมาก ทั้งเล็กและใหญ่ พยาธิพวกนี้ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในกระเพาะแท้ ลำใส้ใหญ่ ลำใส้เล็ก แต่ละชนิดอาศัยอยู่เฉพาะที่ พยาธิชนิดนี้จะคอยดูดเลือดและแย่งอาหารจากแพะ ทำให้แพะเป็นโรคโลหิตจาง ผอมอ่อนแอ ขนร่่วง อุจจาระร่วง และอาจตายได้ถ้าเป็นขั้นรุนแรง
พยาธิตัวกลมที่พบบ่อยและสำคัญ ได้แก่
1. พวกที่อาศัยอยู่ในกระเพาะ รูปร่างเหมือนสัญลักษณ์ร้านตัดผม ฝรั่ง(คน)เรียกมันว่าอีช่างตัดผม Barber's pole worm คนไทย (คุณหมอพรหล้า)เรียกมันว่าอีมังดุด หรือฮีมังคุด(Haemonchus contortus)เป็นพยาธิที่มีความสามารถในการทำลายล้างสูง ประสิทธิภาพในการระบาดเป็นเลิศ และทำให้แพะตายได้เป็นยอด
2. พวกที่อาศัยอยู่ในลำใส้ ได้แก่พยาธิปากขอ และพยาธิเม็ดตุ่ม พวกนี้จะดูดเลือดจากผนังลำใส้กิน เมื่อมันกินอิ่มแล้วก็ทิ้งร่องรอยแผลเอาไว้ให้เลือดไหลทิ้งไหลขว้าง ส่วนเจ้าพวกเม็ดตุ่มนอกจากเจาะกินเลือดแล้ว ยังเจาะฝังตัวอยู่ภายในผนังลำใส้ด้วย ทำให้แพะแสดงอาการท้องเสียอีกด้วย
การรักษา
หลังจากพิสูจน์ทราบแล้วว่าแพะเป็นโรคพยาธิตัวกลม ก็ต้องทำรักษาซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดแต่ก็ต้องทำ ได้แก่การถ่ายพยาธิ ซึ่งยาถ่ายพยาธิมีทั้งประเภท ฉีด และ กิน (กรอกปาก)
** เน้นย้ำ** โปรดอ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนใช้ยาทุกครั้ง (ในกรณีที่ต้องเป็นหมอจำเป็นต้องทำการเอง)ยาถ่ายพยาธิตัวกลมในท้องตลาดนั้นมีหลายตัว (ชื่อยา) หลายยี่ห้อ (ชื่อการค้า)หลายโรงงาน เช่น ไบเออร์ เมอร์ค เชร์ริง เมอร์เรียล ฟิชเซอร์ ฯลฯ
ยาถ่ายพยาธิตัวกลมที่มีขายปัจจุบันได้แก่
ไทอาเบนดาโซล (Thiabendazole)ตัวอย่างชื่อการค้าได้แก่ ไทเบนดาโซน
เลวามิโซล (Levamisole)ตัวอย่างชื่อการค้าได้แก่ คอนคูราท ซิตาริน แอล
เมเบนดาโซล (Mebendazole)ชื่อการค้าได้แก่ เทลมิน
อัลเบนดาโซล(Albendazole)ชื่อการค้า เช่น อัลเบน
เฟนเบนดาโซล(Fenbendazole)ชื่อการค้าได้แก่ พานาคูร์
ไอเวอร์เมกติน(Ivermectin)ชื่อการค้าเช่น ไอเวอร์เมก
ใครเป็นแฟนประจำของใคร ก็เลือกใช้กันเอาเอง แต่อย่าใช้ยาซ้ำขนานเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจทำให้พยาธิดื้อยา และเราต้องมาเสียค่าโง่ จ่ายค่ายาอยู่ได้โดยที่ยาไม่สามารถถ่ายพยาธิได้ แถมยังทำให้พยาธิได้ใจกันยกใหญ่
ภาพจาก BBC NEWS
FAO
เขียนโดย Unknown ที่ 12:43 3 ความคิดเห็น
วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550
พยาธิตัวตืดหรือตัวแบน (Tapeworm)
ลักษณะของพยาธิ ลำตัวเป็นปล้องๆ มีลักษณะแบนและยาวมองดูคล้ายบะหมี่ขดตัวไปมา บางตัวอาจยาวถึง 4-6 เมตร มีส่วนกว้างที่สุดประมาณ 1.2-1.6 เซนติเมตร สามารถงอกและแบ่งตัวเป็นปล้องใหม่ได้เรื่อยๆ เพื่อชดเชยปล้องตอนท้ายที่ต้องหลุดไป หรือบ่อยครั้งก็หลุดออกไปยาวเป็นไม้บรรทัดได้เหมือนกัน
อาศัยอยู่ในลำใส้เล็ก มักไม่ค่อยเป็นปัญหากับแพะโต แต่มักจะเป็นปัญหากับแพะที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะสามารถติดพยาธินี้ได้ง่ายและมักมีอาการรุนแรงกว่าแพะโต เช่น ผอมซูบ น้ำหนักลด การเจริญเติบโตหยุดชะงัก และมีภูมิต้านทานโรคน้อยลง ถ้าป็นมากอาจทำให้ลูกแพะตายได้
หลักปฎิบัติเกี่ยวกับการรักษาโรคพยาธิตัวตืด
เมื่อตรวจและวินิจฉัยพบว่า แพะ เป็นพยาธิตัวตืด ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ถ่ายพยาธิตัวตืดด้วยยาที่มีประสิทธิภาพทำลายสูงสุดและปลอดภัยต่อชีวิตโดยทันที
2. ก่อนถ่ายพยาธิตัวตืด ต้องงดให้อาหารอย่างน้อย 15 ชั่วโมง
3. ต้องขังแพะไว้ในคอกอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
4. กำจัดตัวไมท์ที่เป็นพาหะของพยาธิตัวตืด ตามหญ้า วัสดุรองพื้นคอก และโรงเรือน
5. ย้ายแพะจากแปลงหญ้าเดิมที่เป็นแหล่งพยาธิระบาดไปเลี้ยงที่แปลงอื่น
ยาถ่ายพยาธิตัวตืด
การรักษาจะใช้ยาถ่ายพยาธิตัวตืด ที่มีประสิทธิภาพทำลายพยาธิสูง ปัจจุบันมีจำหน่ายหลายตัว เช่น
นิโคลซาไมด์ (Niclosamide)ชื่อการค้า
โยเมซาน (Yomesan)เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)ราคาค่อนข้างแพงแต่ให้ผลดีและมีความปลอดภัย
แมนโซนิล (Mansonil)เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)
ดรอนชิต เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)
นอกจากนี้ยังมีขายตามท้องตลาดอีกมาก หลายยี่ห้อ เชิญเลือกซื้อได้ตามสะดวก อย่าลืมว่าสุขภาพสัตว์ ก็คือสุขภาพกระเป๋าของเรา เอาดวงใจของเขา มาใส่ใจของเรา เขาจะทุกข์เพียงไหน เราก็เดือดร้อนเพียงนั้น อย่าลืม ทำตัวให้ว่าง หมั่นตรวจสอบขี้แพะดูว่ามีปล้องๆ หลุดปนออกมาขณะแพะขี้หรือเปล่า ขอให้โชคดีทุกๆ ท่านครับ
ภาพจาก Shepherd's Notebook
เขียนโดย Unknown ที่ 18:05 2 ความคิดเห็น
พฤติกรรมการสืบพันธุ์ของแพะ
แพะ เป็นสัตว์ที่มีวัยเป็นหนุ่มสาวไว แพะตัวเมียจะเริ่มเป็นสาวเมื่ออายุ 3-4 เดือน ตัวผู้ จะแตกเนื้อหนุ่มเมื่ออายุ 4-5 เดือน เมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ แพะตัวผู้จะดึงดูดความสนใจจากตัวเมียโดยการพยายามเบ่งปัสสาวะพ่นไปตามตัว
บริเวณเครา หน้าอก และหน้าท้อง เพื่อเป็นการส่งกลิ่นล่อตัวเมียให้เข้ามาใกล้ และก็มักได้ผลด้วยซิเพราะตัวเมียก็จะเข้ามาแสดงความสนิทสนมใกล้ๆ นอกจากนี้ต่อมกลิ่นบริเวณโคนเขาของตัวผู้ก็จะทำหน้าที่ปล่อยกลิ่นร่วมด้วยช่วยกันอีกแรง
เราในฐานะผู้รับผิดชอบเลี้ยงดู ไม่ควรปล่อยโอกาสให้แพะในวัยแรกรุ่นนี้มีโอกาสได้เสียกันในวัยนี้ เพราะจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพของแพะเป็นอย่างยิ่ง เช่น ร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโต ทำให้แคระแกร็น ร่างกายจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และอาจมีปัญหาการคลอดยากตามมาอีกด้วย
ถ้าหากท้องก่อนวัยอันสมควรแล้วก็จะทำให้ร่างกายต้องเสียโอกาสในการเจริญเติบโต เพราะอาหารที่กินเข้าไปแทนที่จะนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่กลับต้องแบ่งไปเลี้ยงบำรุงลูกในท้อง และสร้างน้ำนมเอาไว้เลี้ยงลูก
ดังนั้นผู้ปกครอง ควรแยกโรงเรียนผู้ และโรงเรียนเมีย เมื่อวัยอันควรแยก แล้วค่อยเปิดโอกาสให้พบกันเมื่อมีอายุประมาณ 10 เดือนไปแล้ว
เขียนโดย Unknown ที่ 10:12 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การสืบพันธุ์แพะ, พฤติกรรมของแพะ
วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550
พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
มีคนมาสะกิดบอกว่าช่วยขยายความให้มากกว่านี้หน่อย อ่านแล้วขี้เกียจตีความ และก็ไม่อยากไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม ไหนๆ ก็เข้ามาอ่านแล้ว ก็ให้มันจบและเข้าใจตรงนี้เลย
แป๋ว ว ว ว แสดงว่ามีคนว่าข้าน้อยพูดแล้วเข้าใจยากอีกคนแล้ว ก็ขอแก้ตัวหน่อยก็แล้วกันว่า อันที่จริงแล้วอยากจะเขียนยาวๆ แต่คิดเอาเองว่า คนไทยส่วนมากยังไม่ค่อยชอบอ่านอะไรที่มันมีเนื้อหายาวๆ ก็เลยพยายามจะสั้นเข้าไว้
พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็ขอขยายความต่อ โดยนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเดิมก็แล้วกันเพราะสั้นและเข้าใจง่ายซึ่งจัดทำโดย สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในหัวข้อ พฤติกรรมของสัตว์ที่เหมาะสมต่อการเป็นสัตว์เลี้ยง เนื้อหาไม่ขอเปลี่ยนแปลงและขอนำมาถ่ายทอดต่อทั้งดุ้นอีกเช่นเคย ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้
1. สามารถอาศัยรวมกันเป็นฝูง หรือกลุ่มสังคมได้ ทั้งนี้เพื่อประหยัดพื้นที่โรงเรือนและอุปกรณ์ในการเลี้ยงดู เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็ด ไก่ เป็นต้น
2. มีการจัดอันดับทางสังคม (Social order) และอันดับทางสังคมของสัตว์แต่ละตัวค่อนข้างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ การจัดอันดับทางสังคมในฝูงสัตว์ทำให้ลดการต่อสู้แก่งแย่งกันระหว่างสัตว์ในฝูง ถ้าท่านเป็นคนช่างสังเกต หรือชอบดูสารคดีก็จะพบว่า สัตว์จะมีจ่าฝูงอยู่หนึ่งตัวเสมอในแต่ละฝูง ทำให้ง่ายต่อการดูแลและไล่ต้อน เพราะเวลาไปไหนเขาก็จะยกฝูงไปกันเป็นขบวน
3. สามารถผสมพันธุ์กันได้โดยไม่เลือกคู่ผสม และตัวผู้สามารถผสมกับตัวเมียได้หลายตัว (Polygenous) เพื่อเป็นการประหยัดไม่ต้องเลี้ยงตัวผู้ไว้เป็นจำนวนมาก และเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจัดระบบการผสมพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์ อันนี้ชัดเจนว่า เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์โดยไม่มีที่สุด และขยายเผ่าพันธุ์รวดเร็ว
4. ตัวผู้มีลักษณะต่างๆ แตกต่างจากตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด มีขนาดใหญ่กว่า มีหงอนโต กว่า หรือมีอาวุธต่างๆ เช่น เขา งา หรือเดือย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวผู้มีอันดับทางสังคมสูงกว่าตัวเมีย อันเป็นผลเพื่ออำนวยต่อการผสมพันธุ์แบบคุมฝูง
5. ลูกสัตว์มีการพัฒนาการต่างๆ อย่างสมบูรณ์เมื่อคลอด (Precocial development at birth) ทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างรวดเร็วหลังคลอด เพื่อให้แม่สัตว์เป็นอิสระจากการเลี้ยงลูกได้เร็ว และพ่อสัตว์ไม่มีส่วนในการเลี้ยงลูก นอกจากนี้การที่ลูกสัตว์มีการพัฒนาการด้านต่างๆ ดี ทำให้มนุษย์สามารถเข้าจัดการดูแลแทนแม่สัตว์ได้ เช่น เมื่อคลอดออกมาต้องเดินได้โดยเร็ว ไปหานมแม่กินเองได้ หรือกินอาหารเองได้หลังคลอดในไม่ช้า
6. แม่สัตว์ยอมรับเลี้ยงลูกของตัวอื่นได้ง่าย พฤติกรรมนี้ทำให้การจัดการดูแลสัตว์สะดวกขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแม่สัตว์ตายหรือไม่มีนมให้ลูกกินหลังคลอด ทำให้เราสามารถฝากลูกเลี้ยงได้เมื่อมีเหตุจำเป็น เช่นแพะมีลูกแฝด 3 หรือแฝด 4 สามารถฝากแม่ลูกเดี่ยวเลี้ยงได้
7. เป็นสัตว์ประเภทกินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) หรือกินได้ทั้งพืชและเนื้อเป็นอาหาร (Omnivore) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้อาหารที่มนุษย์ไม่สามารถกินได้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และไม่เป็นการแย่งอาหารของมนุษย์ด้วย
8. มีความสมารถสูงในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมต่างๆ และระบบการเลี้ยงดูของมนุษย์ ข้อนี้ก็สำคัญไม่น้อย เพราะถ้าไม่สามารถปรับตัวได้ หรือปรับตัวไม่ทัน ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะถ้าเราเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของการทำธุรกิจยิ่งต้องคำนึงให้มากๆ
หวังว่าท่านที่อุตส่าห์ตามอ่านมาถึงตรงนี้คงพอจะเข้าใจบ้าง ถ้าไม่เข้าใจ หรือเข้าใจดีกว่านี้ ก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเข้ามาได้ครับ
เขียนโดย Unknown ที่ 11:26 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2550
เรียนรู้พฤติกรรมของแพะ
พฤติกรรม คืออะไร สำคัญไฉน ทำไมเราถึงต้องเรียนรู้ รู้แล้วได้อะไร เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เดี๋ยวเราลองไปหาคำตอบกัน
ตามหลักฐานอ้างอิงแบบไทยๆ ก็ต้องยึดตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ บันทึกไว้ว่า
พฤติกรรม น. การกระทําหรืออาการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ ความคิด และความรู้สึก เพื่อตอบสนองสิ่งเร้า.
เขียนสั้นๆ ได้ว่า พฤติกรรม คือ การกระทำเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า
แล้วอย่างไรเรียกว่าตอบสนอง และอย่างไรเรียกว่าสิ่งเร้า
สนอง [สะหฺนอง] ก. ทำตามที่ได้รับคำสั่งหรือคำขอร้องเป็นต้น เช่น สนองโครงการในพระราชดำริ สนองนโยบายของรัฐบาล; โต้ตอบ เช่นกรรมตามสนอง, ตอบรับการเสนอ เช่น เสนอขาย สนองซื้อ. (ข. สฺนง).
เร้า ก. กระตุ้นเตือน เช่น เร้าอารมณ์; ปลุกใจ เช่น พูดเร้าใจ. ว. ที่กระตุ้น
เตือน เช่น สิ่งเร้า.
หวังว่าท่านคงจะสับสนกันพอสับควรแล้วกระมัง กับการใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในรูปแบบของชาวบ้านๆ อย่างผม
เรามาว่ากันต่อในเรื่องการเรียนรู้พฤติกรรมของแพะกันต่อดีกว่า "การเรียนรู้พฤติกรรมของแพะอย่างถ่องแท้ จะเป็นแนวทางให้เราสามารถจัดการระบบต่างๆ ได้ถูกต้องตามความต้องการของแพะนั้นๆ เมื่อแพะมีอาการผิดปกติ เป็นสัญญาณบอกให้รู่ว่าแพะได้มีอาการป่วยไข้แล้ว จึงต้องดำเนินการป้องกันและรักษาโดยด่วน" (ปริศนา จิตต์ปรารพ,ต้นทุนและผลตอบแทนจากการเลี้ยงแพะนม ในฟาร์มขนาดใหญ่ กรณีศึกษา บริษัท สยามแผ่นดินทอง จำกัด) แล้วพฤติกรรมของแพะเลี้ยงจะเป็นอย่างไร
แพะ จัดเป็นสัตว์เลี้ยงชินดหนึ่ง ดังนั้นพฤติกรรมหลักๆ ของสัตว์เลี้ยงย่อมไม่ต่างกันมากนัก เช่น อาศัยรวมกันเป็นฝูงหรือกลุ่มสังคมได้ เพื่อประหยัดพื้นที่และอุปกรณ์การเลี้ยง มีการจัดอันดับทางสังคม ผสมพันธุ์ได้โดยไม่เลือกคู่ ตัวผู้มีลักษณะแตกต่างจากตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด ลูกสัตว์มีการพัฒนาดีเมื่อคลอด แม่สัตว์ยอมรับเลี้ยงลูกตัวอื่นได้ง่าย เป็นสัตว์กินพืชหรือกินทั้งพืชและเนื้อ และสุดท้ายมีความสามารถสูงในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม
"พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง (Ethlogy) เป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมถึงการแสดงอริยบทต่างๆ ของสัตว์มากมาย เช่น การหายใจ การกินอาหารและน้ำ การต่อสู้ การสืบพันธุ์ การให้น้ำนม เหล่านี้เป็นต้น" (น.สพ. ถวัลย์ วรรณกุล การเลี้ยงแพะและการป้องกันรักษาโรค)
แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กกินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะแพะชอบกินใบไม้ พุ่มไม้ จะปีนป่ายและกินใบไม้และเปลือกไม้อ่อน แพะชอบออกหาอาหารกินเองมากกว่า ชอบกินใบไม้มากกว่าหญ้า เลือกกินอาหารที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นดิน และไม่ชอบกินอาหารชนิดเดียวเป็นเวลานานๆ
นอกจากแพะจะปีนป่ายได้เก่งแล้ว ยังสามารถ มุด ลอด และกระโดดได้เก่งอีกด้วย แพะเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น แม้กระทั่งเรื่องการกิน มีอะไรให้กินก็ต้องขอลองกินดูก่อน กินได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง
"ปริมาณที่แพะกินได้ 3-6% ของน้ำหนักตัว
แพะเลือกกินไม้พุ่ม 72 % หญ้า 28%
แพะจะเดินหากินอาหารได้ไกลถึงวันละ 6-8 กิโลเมตร
แพะถ้าเลี้ยงแบบขังจะกินน้ำวันละ 0.68 ลิตร/ตัว
ถ้าเลี้ยงแบบปล่อยแพะจะกินน้ำวันละ 2 ลิตร/ตัว
ใช้เวลากินอาหาร 30% เคี้ยวเอื้อง 12%
เดินทางหาอาหาร 12% และพักผ่อน 46%"
(เอกชัย พฤกษ์อำไพ, คู่มือการเลี้ยงแพะ)
ทั้งหมดเป็นพฤติกรรมทั่วๆ ไปและพฤติกรรมการกินอาหารของแพะ หวังว่าท่านคงพอจะรู้จักแพะได้ดีขึ้นระดับหนึ่งแล้วกระมัง
ภาพจาก moment.ee
เขียนโดย Unknown ที่ 14:32 6 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พฤติกรรมของแพะ, พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2550
"แพะพื้นเมือง Thai Native Goat" Here I am !
วันนี้ขอจั่วหัวตามกระแสหน่อยก็แล้วกัน สำหรับท่านที่ดูข่าวทีวี หรืออ่านข่าวหนังสือพิมพ์คงจะเข้าใจว่าหมายถึงอะไร แต่สำหรับตรงนี้หมายถึง "แพะ" เท่านั้น ส่วนจะเป็นแพะของใคร แพะในประเทศหรือแพะต่างประเทศ และสีสันจะเป็นเช่นไร เดี๋ยวเรามาดูกัน
จั่วหัวเท่ ๆ ไปเช่นนั้นเอง อยากลองเกาะกระแสดูบ้าง ว่าจะโดนช็อตหรือเปล่า บางคนอ่านมาหลายตอนแล้วยังไม่รู้เลยว่า แพะพื้นบ้าน แพะพื้นเมืองนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร จะดูได้จากตรงไหนบ้าง คือหมายถึงลักษณะ รูปร่าง ไม่ใช่ให้ไปดูที่ภาคใต้อะไรทำนองนั้น
ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแพะอีกท่านหนึ่งของไทยท่านได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับแพะพื้นเมืองไทย (Thai Native Goat) อย่างจริงจังและสรุปไว้ว่า แพะพื้นเมืองที่เลี้ยงอยู่ในภาคใต้เป็นแพะเนื้อ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแพะพันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย และมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
สี มากกว่า 60% สีดำ น้ำตาล หรือน้ำตาลสลับดำ ที่เหลืออาจจะมีสีขาวหรือเหลืองปนบ้าง
เขา มีเขาทั้งเพศผู้และเพศเมีย
ติ่งใต้คอ ที่พบติ่งใต้คอประมาณ 6%
หู ใบหูตั้ง
สัดส่วน และ ส่วนสูง เพศเมียเมือโตเต็มวัยมีความสูงระดับไหล่ (วัดจากพื้นที่แพะยืนถึงปุ่มที่หลังตรงตำแหน่งขาหน้า)41-57 เซนติเมตร โดยเฉลี่ย 48.5 เซนติเมตร มีความยาวรอบอกเฉลี่ย 59.6 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ย 16.4 กิโลกรัม เพศผู้ความสูงระดับไหล่ 46-68 เซนติเมตร
หวังว่าท่านคงพอจะดูออกแล้วกระมังว่าแพะพื้นเมืองนั้นเป็นเช่นใด สำหรับผมแล้วเห็นว่าพลเมืองพื้นบ้านของเรามัก ตกเป็นแพะเสมอ
ขอขอบคุณภาพจากคู่มือเลี้ยงแพะ ของ กรมปศุสัตว์
เขียนโดย Unknown ที่ 15:49 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พันธุ์แพะ, แพะพื้นเมือง, ลักษณะประจำพันธุ์
วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550
FAMACHA© chart
FAMACHA© chart แผ่นตรวจเทียบสอบสุขภาพแพะด้วยตนเอง เป็นของฝรั่งเขา มีไว้สำหรับเทียบตรวจสอบสุขภาพแพะ ว่าเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ หรือว่าสุขภาพดีเยี่ยม (A)หรือว่าจะต้องตายอย่างแน่นอนในเร็ววัน (E)
หนึ่งในสาเหตุหลักของโรคโลหิตจาง ก็คงหนีไม่พ้น "พยาธิ" ดังนั้นเจ้าแผ่นอันนี้ก็ช่วยเราให้ทราบว่าสุขภาพแพะอยู่ระดับใดจะได้หาทางแก้ไขได้ทันเวลา และข้อมูลที่ได้มาส่วนมากสรุปได้ว่า แพะตายเพราะพยาธิมากกว่าตายจากโรคติดต่อ FAMACHA© chart แบบไทยๆ เราก็มีใช้เช่นกัน คุณหมอพรหล้าท่านทำแจกฟรี ๆ ๆ ๆ สำหรับใครที่เคยเข้ารับการให้ความรู้จากคุณหมอก็จะได้รับไปใช้คนละแผ่น ลองกลับไปอ่านดูเรื่อง แผ่นตรวจซีด อีกสักครั้งก็แล้วกัน
ภาพจาก Shepherd's Notebook
เขียนโดย Unknown ที่ 14:59 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: แผ่นตรวจซีด, สุขภาพแพะ
วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550
แพะพื้นเมือง Where are you?
หลังจากที่ตามหาพื้นเพของแพะพื้นเมืองกันแล้ว ทีนี้เรามาตามดูกันต่อดีกว่าว่าแพะพื้นเมืองยังสบายดีอยู่หรือ และอยู่กันที่ไหนบ้าง ยังเหลืออยู่กันกี่มากน้อย อนาคตจะเป็นเช่นไร จะยังคงดำรงเผ่าพันธุ์กันต่อไป หรือว่าค่อยๆ ถูกกลืนหายไปกับการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ด้วยการผสมข้ามกับแพะพันธุ์ต่างถิ่นตามสมัยนิยมของนอก แล้วเรียกว่าเป็นการผสมพันธุ์แบบพัฒนาเพื่อยกระดับสายเลือดขึ้นไป ฟังแล้วรู้สึกดี และชื่นชมที่เกษตรกรบ้านเรารู้จักการพัฒนายกระดับสายพันธุ์ให้ดีขึ้นเพื่อวงการแพะบ้านเราจะได้ก้าวทันต่างชาติซะที
ในอดีตแพะมักจะได้รับความสนใจน้อยมากเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ การศึกษาและวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และประสิทธิภาพในการผลิตของแพะแทบจะไม่มีเลย ความสามารถในการผลิตของแพะพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ที่มีอยู่ก็เป็นผลมาจากการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าเราจะสามารถบอกถึงความแตกต่างระหว่างลักษณะภายนอกของแพะแต่ละพันธุ์ได้ แต่ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการผลิตของแต่ละพันธุ์ เช่นลักษณะการสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต การผลิตนม โรคและพยาธิแทบจะไม่มีเลย (เอกชัย พฤกษ์อำไพ)
ดร.สรศักดิ์ คชภักดี ได้เขียนลงหนังนิยสารสัตว์บกเอาไว้ในเรื่อง ควรจะเลี้ยงแพะเนื้อพันธุ์อะไรดีว่า แพะพื้นเมืองไทย ที่เป็นพื้นเมืองแท้ก็หายากเช่นกัน เพราะมักจะผสมกับพ่อพันธุ์บอร์หรือพันธุ์แองโกลนูเบียน เท่าที่ทราบปัจจุบันมีอยู่ฝูงหนึ่งมีแพะประมาณ 100 ตัว เลี้ยงอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร แพะพื้นเมืองฝูงนี้เป็นแพะที่ซื้อเข้ามาเป็นแม่พันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2528 และยังไม่มีการผสมข้ามกับแพะพันธู์อื่นๆ แพะพื้นเมืองไทยจากแหล่งอื่น ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันก็มีอยู่บ้าง แต่ผสมปนเปอยู่ในฝูงของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่นานอาจหมดไป เพราะแพะเหล่านี้ถูกผสมกับพ่อพันธุ์บอร์หรือแองโกลนูเบียน ลูกที่ได้ก็จะไม่เป็นพื้นเมืองอีกต่อไป ส่วนแม่แพะพื้นเมืองเมื่อถึงอายุไข (ประมาณ 8-10 ปี) ก็จะถูกคัดออกเพื่อจำหน่ายเป็นแพะเนื้อ
ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา บุคคลหลายกลุ่มได้ตระนักถึงความสำคัญของแพะ ได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับแพะอย่างกว้างขวางในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตามมีกลุ่มบุคคลอยู่ไม่น้อยที่พยายามยกระดับความสามารถในการผลิตของแพะโดยหวังผลในระยะเวลาอันสั้นด้วยการนำแพะพันธุ์อื่นเข้ามาผสมข้ามกับแพะพันธุ์พื้นเมืองเดิม ทั้งๆที่ไม่ได้ศึกษาให้แน่ชัดว่า พันธุ์พื้นเมืองเดิมนั้นมีคุณลักษณะที่ดีอย่างไรบ้าง จึงน่าเป็นห่วงว่าในที่สุดแล้วเราอาจสูญเสียแพะพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ดีไปหมดโดยไม่ทัีนรู้ตัว (เอกชัย พฤกษ์อำไพ)
ขอขอบคุณภาพจากคู่มือการเลี้ยงแพะ กรมปศุสัตว์,เอกชัย พฤกษ์อำไพ คู่มือแพะ, ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี นิตยสารสัตว์บก
เขียนโดย Unknown ที่ 10:46 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: แพะพื้นเมือง, สาระ-แพะ
พื้นเพ แพะพื้นเมือง
ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ควรเริ่มต้นจากแพะพันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะดี เพราะมีข้อดีหลายประการ เช่น สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งปีและเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพแวดล้อมของประเทศเรา ซึ่งสามารถปรับตัวเข้าสภาพแวดล้อมได้ดีอยู่แล้ว เลี้ยงดูง่าย ทนทานต่อโรคและพยาธิ และมีราคาที่ไม่แพงเหมือนแพะพันธุ์จากต่างประเทศ
เชื่อว่าคำตอบข้างต้นนี้ จะเป็นคำตอบที่มือใหม่จะได้รับจากการถามไถ่ออกไปแทบจะทุกรายไป ถ้าท่านไม่เชื่อก็ลองโพสถามคุณกู เกิ้ลดู หรือลองโพสถามไปตามกระดานถามตอบต่างๆ ว่าเราควรจะเริ่มต้นอย่างไรกับการเลี้ยงแพะ เพราะยังไม่เคยเลี้ยงเลย เกิดมาก็เพิ่งจะรู้จักแพะจากตรงนี้แหละ อะไรประมาณนั้น รับรองได้ว่าคำตอบที่ได้ไม่ผิดไปจากคำตอบข้างต้นมากนัก เชื่อขนมกินได้
บางท่านอาจจะเสริมไปว่า "ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน บวกกับวัตถุดิบที่มีในถ้องถิ่นเช่นพืชสมุนไพรต่างๆ มากมาย ที่มีให้แพะพื้นเมืองได้กินเป็นอาหาร ย่อมทำให้แพะที่เลี้ยงมีสุขภาพดียิ่งขึ้นไปอีก"
จากคำตอบต่างๆ ที่หลายๆ ท่านได้ช่วยกันให้คำตอบมานั้นแสดงว่า "แพะ" เป็นสัตว์ที่มีถิ่นเกิดอยู่ในประเทศไทยอยู่แต่เดิม เรียกได้ว่าแพะเป็นสัตว์ประจำถิ่น ประจำบ้าน ประจำเมือง หรือแพะท้องถิ่น แพะพื้นบ้าน แพะพื้นเมือง ก็ว่าได้
แต่ในชิวิตจริงกว่าที่ผมจะได้รู้จักแพะตัวเป็นๆ ก็ตอนที่โตเป็นหนุ่มแล้ว และได้มีโอกาสดินทางไปที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ขณะที่ขับรถไปตามเส้นทางสู่อำเภอเบตง เพื่อนที่นั่งไปด้วยในรถ ได้บอกเตือนให้ระวังแพะ เดี๋ยวจะไปชนแพะชาวบ้านเข้า รับรองไปไหนไม่ได้แน่นอน และก็คุยกันไม่รู้เรื่องด้วย ผมเลยถามไปว่าทำไมคุยไม่รู้เรือง เพื่อนตอบว่า เขาไม่พูดภาษาไทย และแพะของเขาก็เปรียบได้กับวัวของเราเชียวล่ะ แสดงว่าแพะเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสำหรับผู้คนถิ่นนั้น
ออกนอกเรื่องไปอีกแล้ว ผมพยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนเพิ่มเติมก็หาไม่ได้ว่าแพะ เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น หรือมีทั่วไปของประเทศ สุดท้ายก็ต้องถามคุณกู อันนี้เราต้องยอมรับว่าในโลกของไซเบอร์คุณกู เกิ้ล เขาไม่ใช่ย่อย ก็ได้คำตอบค่อนข้างเป็นที่พอใจจากรายงานการวิจัยของ ดร.วินัย ประลมพ์การญจ์ ดังต่อไปนี้
"ตามหลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับประวัติการเลี้ยงแพะในประเทศไทย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ รายงานปี พ.ศ. 2491 ว่าแพะที่เลี้ยงในประเทศไทยในขณะนั้นเข้าใจว่าเป็นแพะเลือดอินเดีย บางคนเรียกว่า แพะบังกะลา ซึ่งอาจหมายความว่าเป็นแพะที่มาจากเมืองบังกะลาหรือเบงกอล แพะที่เลี้ยงมีเขา หน้าโค้ง หูตก และหูยาวทั้งนั้น ยังไม่พบพันธุ์ที่ไม่มีเขา หูตั้งและหน้าตรง
แพะพื้นเมืองที่เลี้ยงอยู่ในภาคใต้เป็นแพะเนื้อ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแพะพันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเรียกว่าพันธุ์แกมบิง กั๊ตจัง (Kambing Katjang หรือ Katjang หรือ Kacang)"
นอกจากนี้แพะที่เลี้ยงกันแถบตะวันตก เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดนครสวรรค์ เข้าใจว่าเป็นแพะที่มาจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ เข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางประเทศเมียนมาร์ มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าแพะทางใต้ แพะกลุ่มนี้มีใบหูปรกยาวมาก ขายาว ผอมเก้งก้าง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "แพะพม่า" หรือ "แพะหูยาว"(ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี)
หวังว่าท่านที่อุตส่าห์ตามอ่านจนถึงตรงนี้แล้วคงจะได้คำตอบอะไรบ้าง เกี่ยวกับ"แพะพื้นเมือง" ถ้าท่านใดมีข้อมูลที่ใหม่กว่านี้ ก็แลกเปลี่ยนกันเข้ามาได้ครับ ขอขอบคุณภาพจาก คู่มือการเลี้ยงแพะ ของกรมปศุสัตว์ ณ ตรงนี้ไว้ด้วย
เขียนโดย Unknown ที่ 09:30 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พันธุ์แพะ, แพะพื้นบ้าน, แพะพื้นเมือง
วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2550
เลี้ยงแพะนานแค่ไหนถึงจะคืนทุน
เงินทองเป็นของนอกกาย ขวนขวายแทบตายกว่าจะได้มา สิบบาท ร้อยบาท พันบาท ก็ต้องลงทุนไปถึงจะได้มา บางคนลงทุนแรงกาย บางคนลงทุนสมอง บางคนลงทุนแบมือขอออกไปถึงจะได้มา
"ลำบากแทบตาย" บางคนแย้ง หรือบางคนอาจบอกว่า "เน็ดเหนือยแทบตาย" จะอย่างไรก็ตาม เรามาว่ากันต่อในเรื่องของการใช้เงินกับการประกอบอาชีพใหม่ กับสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เรียกว่า "แพะ" สำหรับชุมทางแพะ อาจจะไม่ใหม่เท่าไร แต่รับประกันได้ว่า แพะ ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยอีกหลายๆ คน เพราะหลายคนยังไม่เคยเคยแพะตัวเป็นๆ เลย
เอาล่ะ ตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะเลี้ยงแพะ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเลี้ยงแพะไปตลอดชีวิต และก็คิดว่าผลผลิตจากแพะจะต้องกลับมาเลี้ยงเราบ้างในเร็ววัน แล้วในเร็ววันนั้น เร็วแค่ไหน หร้อว่านานเพียงใด และต้องเริ่มต้นที่ตรงไหน เริ่มที่แพะกี่ตัว มีอะไรบ้างที่จะต้องจ่าย งบประมาณเริ่มต้นกี่มากน้อย และที่แน่ๆ กี่ปีคืนทุน
อันตัวเรา ก็เป็นเพียงเกษตรกรธรรมดา ฐานะก็ธรรมดาๆ เงิน มันคือสิ่งที่มีคุณค่าและมีมูลค่า มันทำให้เรามีเกียรติยศ มีชื่อเสียง และมีความมั่นคงในชีวิต และตอนนี้มันได้ล้อมจับเราเอาไว้หมดทุกด้านแล้ว และร้องเรียกให้เราออกไปมอบตัวซะโดยดี แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อประกันได้ว่าเราจะได้เป็นอิสระ หรือมีอิสระตามอัตภาพ
คำตอบพอประมวลได้ว่า ก็ควรลงทุนตามอัตภาพ ไม่มากเกินไปนัก ควรลงทุนเบื้องต้นประมาณ 100,000 บาท (สิบหมื่น) ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี ด้วยการสร้างโรงเรือนแบบชั่วคราวถูกๆ รายละเอียดขอยกตัวอย่างฟาร์มแพะของโครงการหนึ่งฟาร์มหนึ่งตำบลมาให้ดูก็แล้วกัน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งฟาร์ม(ตัวอย่าง) สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรแต่ละอำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดทำขึ้นเพื่อสาธิตการทำการเกษตรในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเป็นฟาร์มตัวอย่างให้เกษตรกรได้ศึกษา และใช้เป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรตามหลักวิชาการ
โครงการนี้ใช้พื้นที่ 25 ไร่ปลูกหญ้าเป็นพืชอาหารสัตว์ เลี้ยงแพะ 25 ตัว (แม่พันธุ์ 23 ตัว พ่อพันธุ์ 2 ตัว) โรงเรือนแบบชั่วคราวหลังคามุงจากหรือหญ้าคา ขนาด 4X6 เมตร ประมาณการรายรับรายจ่ายดังต่อไปนี้
รายรับจะได้รับในที่ 2 ไปแล้ว จากการขายลูกแพะ โดยแม่แพะ 23 ตัว คลอดลูกปีละ 1 ตัว เท่ากับ 23 ตัว ขายหมดตัวละ 1,500 บาท เท่ากับ 34,500 บาท ดังนั้นสมารถคืนทุนได้ในปีที่ 3
ส่วนรายจ่ายประกอบด้วย
-สร้างโรงเรือน 4,650
-ซื้อแม่พันธุ์แพะ 68,310
-ซื้อพ่อพันธุ์แพะ 9,000
-ค่าวัคซีน/เวชภัณฑ์/อื่น ๆ 1,200
-อาหารเสริม 2,400
-ค่าดูแลรักษา 7,200
-แปลงหญ้า 1,240
รวม 94,000 บาท
เป็นอย่างไรบ้างครับ คิดว่าพอจะเป็นแนวทางในการปรับ ประยุกต์ใช้ได้ตามอัตภาพก็แล้วกัน
เขียนโดย Unknown ที่ 18:04 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, เลี้ยงแพะนานแค่ไหนถึงจะคืนทุน
วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550
"น้องกาย"(Guy) แพะโคลนนิง ฝีมือคนไทย
ดร.ประสาท สืบค้า อธิบการบดี มทส.(ซ้าย) และดร.รังสรรค์ พาลพ่าย (ขวา) อวด "น้องกาย" ลูกแพะโคลนนิงที่กำเนิดจากการโคลนด้วยเซลล์ต้นกำเนิดจากใบหูเป็นรายแรกของโลก
มทส.โชว์ “น้องกาย” ลูกแพะโคลนนิงจากเซลล์ใบหูตัวแรกของโลก และนับเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่สามารถโคลนแพะได้สำเร็จ "ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย" เจ้าของผลงานเตรียมโคลนให้ครบ 20 ตัวในปี 2550 พร้อมต่อยอดโคลน "เลียงผา" สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เผยถึงความสำเร็จในการโคลนนิงแพะจากเซลล์ใบหูของแพะพันธุ์บอร์ซึ่งเป็นพันธุ์เนื้อ โดยได้ลูกแพะเป็นเพศผู้ที่ผ่าตัดทำคลอดเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นรายที่ 4 ของโลกที่โคลนนิงแพะสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังเป็นแพะตัวแรกของโลกที่กำเนิดด้วยการโคลนนิงโดยใช้เซลล์จากใบหู ซึ่งโดยปกติในต่างประเทศจะใช้เซลล์จากลูกอ่อน (Fetus) ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่อยู่ในมดลูก ทว่าทีมวิจัยจะได้โคลนนิงด้วยวิธีหลังเพื่อเปรียบเทียบด้วย
สำหรับแพะโคลนนิงวัย 1 เดือนกว่านี้ได้รับชื่อจากการประกวดว่า "น้องกาย" (Guy) ซึ่งสื่อความหมายถึงเพศผู้ในภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ ดร.รังสรรค์และทีมวิจัยได้นำเซลล์ใบหูของแพะพันธุ์บอร์เพศผู้ไปเก็บไว้ในธนาคาร จากนั้นเก็บไข่จากแพะเพศเมียที่เลี้ยงไว้สำหรับผลิตไข่โดยเฉพาะ ไปดูดเอานิวเคลียสออกและนำเซลล์ต้นแบบจากใบหูของแพะเพศผู้ใส่ลงในไข่ดังกล่าว แล้วเชื่อมด้วยกระแสไฟฟ้าก่อนนำไปฝากไว้กับแพะเพศเมียอีกตัวที่เลี้ยงไว้สำหรับอุ้มท้องโดยเฉพาะ
ดร.รังสรรค์ เปิดเผยว่า มีการย้ายฝากตัวอ่อนตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2549 โดยหลังจากผ่านไป 150 วันแล้วยังไม่การคลอดโดยวิธีธรรมชาติ ทางทีมวิจัยจึงตัดสินใจผ่าตัดเพื่อทำคลอดในวันที่ 153 ของการตั้งท้อง
"ที่เลือกวิธีโคลนนิงด้วยเซลล์ต้นแบบจากใบหูนั้น เพราะทีมวิจัยมีความชำนาญวิธีนี้เป็นพิเศษ โดยที่ผ่านมาได้โคลนิงวัว แมวด้วยเซลล์จากใบหูมาโดยตลอด และเก็บเซลล์จากต้นแบบได้ง่ายเพราะไม่ทำให้สัตว์บาดเจ็บ" ดร.รังสรรค์อธิบาย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมาทีมวิจัยยังได้ผ่าตัดทำคลอดให้แพะเพศเมียอีกตัวที่ทำโคลนนิงด้วยเช่นกัน แต่ในเช้าวันที่ 6 ก.ค.ลูกแพะได้เสียชีวิตลง เบื้องต้นได้ผ่าซากพิสูจน์ และพบการขยายตัวของปอดที่ผิดปกติ แต่สัตวแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด และต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการอีกที เนื่องจากยังระบุไม่ได้ว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นผลขณะมีชีวิตอยู่หรือหลังจากเสียชีวิต
จากความสำเร็จในครั้งนี้ ดร.รังสรรค์เผยว่า ทีมวิจัยตั้งเป้าจะโคลนนิงแพะให้ได้ครบ 20 ตัวภายในปี 2550 และจะต่อยอดโคลนนิง “เลียงผา” หรือ “แพะภูเขา” ซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์เนื่องจากถูกล่าเพื่อนำมาทำน้ำมันใช้เป็นยาบรรเทาปวดตามความเชื่อ โดยสัตว์ทั้ง 2 ชนิดอยู่ในตระกูลเดียวกัน
ภาพและข่าวจากผู้จัการออนไลน์ 6 กรกฎคม 2550
พอดีคิดถึงแกะดอลลีและอยู่ระหว่างการค้นหาข้อมูล ก็ได้ชมข่าวคราวความสำเร็จของคนไทยระดับโลกอีกคนหนึ่ง ก็ถือโอกาสนำมาเผยแพร่ต่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลกว่าไทยเรานี้มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตแพะ
และในอนาคตถ้าหากว่ามีการอนุญาตให้เราสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตจริงได้แล้วประเทศไทยคงจะทัดเทียมและแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณอย่างแน่นอน
จากผลสำเร็จในครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นผลดีและความก้าวหน้าทางวิวัฒนาการ หรือว่าเป็นผลข้างเคียงต่อวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาค
เขียนโดย Unknown ที่ 15:27 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: เทคโนโลยีการเกษตร, เทคโนโลยีการผลิตแพะ
วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2550
แผ่นตรวจสอบโรคโลหิตจาง Anaemia Guide
การเลี้ยงแพะขณะนี้กล่าวได้ว่ากำลังได้รับความสนใจเลี้ยงกันมากขึ้น ทั้งจากจำนวนคนเลี้ยงและจำนวนแพะที่เลี้ยง หลายๆ คนเลี้ยงแล้วก็สะดวกราบรื่นดี หลายๆ คนก็มักประสบกับปัญหาอยู่ตลอด สาเหตุเพราะผู้เลี้ยงแพะส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือเอาใจใส่กับสุขภาพของแพะมากนัก เพราะมักเข้าใจว่าแพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินง่าย อยู่ง่าย แต่ลืมไปว่า แพะก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่เจ็บได้ ป่วยได้ แต่พูดไม่ได้ และก็ตายได้ง่ายๆ ด้วยเช่นกัน
ดังนนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพแพะทุกวัน เช่น ลองเอาหูของเราไปแนบฟังตรงท้องแพะดูบ้างว่ามีเสียงผิดปรกติหรือไม่ หรือมีกลิ่นผิดปรกติจากแพะหรือเปล่า ปัญหาสุขภาพแพะของบ้านเราหลักๆ แล้วก็มักจะเป็นพยาธิ ที่ทำความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงเป็นจำนวนมาก ทั้งพยาธิภายนอก และพยาธิภายใน พยาธิภายนอก และแมลงรำคาญต่างๆ ก็ได้แก่พวก เห็บ หมัด ไร ยุง เป็นต้น ส่วนพยาธิภายใน ได้แก่ พยาธิภายในกระเพาะ และภายในลำใส้ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด เป็นต้น ซึ่งเมื่อแพะเป็นพยาธิขั้นรุนแรงแล้วสามารถทำให้แพะตัวนั้นตายได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นต้องสามารถตรวจสุขภาพแพะเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาได้ทัน การตรวจสอบเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด ก็คือการตรวจที่สีผิวของอวัยวะเพศ หรือที่สีผิวของเปลือกตาแพะ โดยเปรียบเทียบกับแผ่นตรวจซีด หรือแผ่นตรวจสอบโรคโลหิตจาง ด้วยการเทียบสีของเปลือกตาแพะตามระดับหมายเลขต่างๆ ดังต่อไปนี้ หมายเลข 1 สีเยื่อเมือปติ บ่งชี้ว่าสัตว์สุขภาพดี และให้เฝ้าติดตามปัญหาพยาธิ และโลหิตจาง ทุกๆ 4-6 เดือน หมายเลข 2 สีเยื่อเมือกซีดเล็กน้อย แนะนำให้อาหารคุณภาพดี และมีการกำจัดตัวอ่อนพยาธิในแปลงหญ้า โดยการพักแปลงหญ้าอย่างน้อย 3 เดือน หมายเลข 3 สีเยื่อเมือก ซีดจางปานกลาง บ่งชี้ให้ถ่ายพยาธิและเสริมแร่ธาตุผสมอาหาร ที่มีธาตุเหล็ก ทองแดง โคบอลต์ จนกว่าสีเยื่อเมือกจะเป็นปกติ และเข้มงวดกับการจัดเก็บทำลายมูลสัตว์ และพักแปลงหญ้าอย่างน้อย 3 เดือน หมายเลข 4 สีเยื่อเมือกซีดจางมาก แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันปัญหาดื้อยาถ่ายพยาธิ และหากสีเยื่อเมือกไม่กลับสู่ปกติหรือดีขึ้นภายใน 1 เดือน ให้ทำการคัดทิ้งได้เลย ขอขอบคุณแผ่นตรวสอบโรคโลหิตจางจากคุณหมอพรหล้า โครงการฟาร์มดี โดยคลินิกฟาร์มดี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ชุมทางแพะสัญจรครั้งแรก ที่เทวาฟาร์ม อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2550
เขียนโดย Unknown ที่ 09:10 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, แผ่นตรวจซีด, สุขภาพแพะ
วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
การเลี้ยงแพะแบบยั่งยืน
จากการเริ่มต้นอย่างไรกับการเลี้ยงแพะ ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วเลี้ยงแพะอย่างไรให้รอด ผมก็เลยถามกลับไปว่า รอดคืออะไร รอดคือแพะที่เราเลี้ยงไม่ตาย หรือว่ารอดคือคนเลี้ยงแพะไม่ตาย หรือว่าอะไรครับ?
รอด ก็คือ แพะรอด เรารอด ครอบครัวเรารอด และธุรกิจก็อยู่รอดด้วยค่ะ
โอเค รอดก็รอด แต่ผมล่ะ จะรอดคำถามนี้ไปได้รึเปล่า
จากนั้นก็ได้ตะลอนหาคำตอบอยู่พักหนึ่ง ก็หลากหลายความเห็น พอประมวลได้ว่า ยุกนี้สมัยนี้มันก็ต้องเลี้ยงแบบพอเพียง แบบผสมผสาน แบบยั่งยืนซิ ผมก็ถามกลับไปว่าแล้วแบบยั่งยืนคือแบบไหน แล้วแบบไหนถึงจะยั่งยืนละครับ
ในที่สุดผมก็ต้องไปถาม Google เพราะเป็นที่พึ่งอันดับแรกและอันดับสุดท้ายของผม และก็เหมาสรุปเอาเองว่า แบบยั่งยืน ก็คือแบบผสมผสานและพอเพียง พึ่งพาตนเองและพึ่งพาท้องถิ่นเป็นหลัก รู้จักใช้ปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเทคนิกหรือวิธีการแบบปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้ได้ผลดี คุ้มค่าต่อการลงทุน ไม่เบียดเบียนตนเองและความมั่นคงของครอบครัว ไม่แน่ใจว่าจะมีใครงงกับผมมั้ยนี้
พูดง่ายก็คือ ท้องถิ่นเรามีอะไรก็ให้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด เช่น เราปลูกข้าวโพด หลังจากหักฝักไปแล้ว ก็เอาต้นและใบข้าวโพดมาเลี้ยงแพะ มีหญ้าขึ้นรกไปหมดก็ตัดมาให้แพะกิน หรือหยูกยาก็ให้แพะกินพืชสมุนไพร เป็นทั้งอาหารและยาป้องกันโรคไปในตัว
เขียนโดย Unknown ที่ 16:13 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, การเลี้ยงแพะแบบยั่งยืน
วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
ไข้
สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของคุณหมอพรหล้า ที่ยังไม่หายคิดถึงคุณหมอ ก็ขอต่ออีกเรื่องก็แล้วกัน เพราะอ่านดูแล้วก็ต่อเนื่องกันกับที่เพิ่งจากนำเสนอไปด้วยเรื่องเสียงของปอด ถ้าพร้อมแล้วก็อ่านบทความเรื่อง ไข้ ของคุณหมอได้เลยครับ ^_^
มีคำที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นจากปกติ 100-102.8-103 F คือ
1 ไข้ จริงๆ
2 อุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นจากการตากแดดหรือออกกำลัง ไข้แดด ทำนองนั้น
ทั้งสองอย่างอันตรายทั้งคู่ เพราะทำให้สมองเสียหายได้ ชักจนระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ตายได้ ไข้นั้นมีทั้งจาก ไข้จากการติดเชื้อโรค และ ไข้จากไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อไหร่จะใช้ยาลดไข้ ก็เมื่อมีไข้สูงและเมื่อมั่นใจที่มาของไข้ เพราะยาลดไข้ไปแก้ไขที่สมองให้อุณหภูมิลดลง แต่สาเหตุไม่ได้เป็นที่สมองทีนี้พอใช้ยาไปโดยที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้ก็กลายเป็นว่ายิ่งทำให้หาต้นสายปลายเหตุของไข้หรือความรุนแรงของโรคยากเข้าไปอีก
อย่าลืมว่า ถ้าสัตว์เป็นไข้ เพราะติดเชื้อโรคในร่างกาย ไข้นี้เกิดขึ้นเพื่อทำลายเชื้อโรคอีกทางหนึ่งที่ร่างกายใช้ต่อสู้ แต่เผอิญว่าไข้มันรุนแรงไป เช่นเกิน 104 F ก็พาลจะทำให้สมองเสียหายไปด้วย คิดเอาประมาณว่า เอาเลือดร้อนๆไปลวกสมองแล้วกันนะ
แล้วเมื่อไหร่ ไม่ต้องใช้ยาลดไข้
ก็เมื่อ เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นเจี๊ยบๆ ตามซอกขาตามหน้า ตัว พาเข้าร่ม อากาศดี ลมโชย แล้วไข้ก็ลดลงอันนี้อาจเป็นเพียงไข้แดด อุณหภูมิเลยขึ้นเฉยๆ หรือเป็นไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อจริงๆก็ได้ แต่ว่าถ้าเราเช็ดตัว ป้อนน้ำกิน ให้น้ำเกลือแล้วลดไข้ได้ ให้ยาฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของไข้ได้
แล้วทำไมต้องให้ยาลดไข้ด้วยหละ (ไม่ต้องให้เพื่อปลุกปลอบใจตัวเอง หรือระดมยิงไว้ก่อน)
แต่ถ้าทำทุกอย่างไปแล้วไข้ยังไม่ลดอีก อันนี้อาจเข้าข่ายไข้แบบไม่ทราบสาเหตุหรือเกิดความผิดปกติของสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลอุณหภูมิของร่างกาย อันนี้ก็จะลึกลงไปอีก
แล้วคิดดูหากเกิดการมั่วระดมยิง จนเราเองก็งง แล้วจะไปสรุปว่าเป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุได้ไง )เพราะเมื่อให้ยาลดไข้ไปกลบอาการไว้ แสดงว่าเราต้องตามดูอีกเรื่อยๆ หรือรอจนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ซึ่งก็เป็นการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน โดยใช่เหตุแถมทำให้เราประเมินอาการสัตว์ต่ำไปกว่าที่เป็นจริงอีกต่างหาก
ทีนี้มาถึงเรื่องลดไข้ อย่าให้ไข้ลดลงอย่างฮวบฮาบ ไม่ว่าจะมาจาก การเช็ดตัว หรือยาลดไข้ เช่น เกิน 2-3องศาใน 1 ชม. อันนี้เดิ๋ยวจะทำให้สมองสับสน แล้วอุณหภูมิร่างกายจะลดลงไปแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นเหตุให้ตัวเย็นตายได้อีก สรุปว่า เมื่อมีไข้ต้องติดตามด้วยปรอทวัดไข้จนกว่าจะปกติ
ฉนั้น เมื่อมีไข้ ให้คิดถึงการเช็ดตัว ก่อนการฉีดยาลดไข้ เพื่อที่จะได้ไม่งง ไม่หลงทางคือเช็ดตัวไป วัดไข้ไป เรื่อยๆ เราจะเห็นแนวโน้มของอุณหภูมิ เรียกว่าภายใน 15-30 นาทีแรกก็เห็นความแตกต่างแล้ว
ยาฉีดไปแล้ว ดูดคืนไม่ได้ นะคะ
เขียนโดย Unknown ที่ 11:49 0 ความคิดเห็น
เสียงปอดของแพะ
ช่วงนี้มีเวลาว่างอยู่บ้าง จึงเข้าไปดูกระทู้เก่าๆ กะว่าจะเอามาเล่าใหม่ เพราะมีสมาชิกถามมาว่า คุณหมอพรหล้าหายไปไหนหรือค่ะ ก็เลยไปดูที่กระทู้ที่คุณหมอเขียน หรือตอบ และช่วงนี้ฝนตกหนักเพราะเป็นฤดูฝน จึงขอนำข้อมูลเรื่องปอด ที่คุณหมอโพสต์ไว้มาเผยแพร่ต่อก็แล้วกัน ^_^
ช่วงนี้มีเคส โรคปอดเข้ามาบ่อยมาก
อยากให้ทุกคน ระวัง และปรับตัวให้ทันกับการแปลี่ยนแปลงของอาการที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว
อีกอย่างที่สังเกตุพบว่า เสียงปอดแพะในแถบกรุงเทพ เสียงดังกว่าปกติ แม้จะไม่ได้แสดงอาการป่วยแต่จริงๆแล้ว เสียงปอดมันจะเงียบกว่านี้ ที่เป็นอย่างนี้อาจเพราะ แพะมีจุดอ่อน ที่ปอดและโดยสภาพร้อนชื้นนั้น ไม่ส่งผลดี ทำให้เกิดร่อยรอยความเสียหายที่ปอด เวลาฟังเสียงจึงดังกว่าปกติแม้ไม่แสดงอาการ แต่สิ่งนี้จะสะสมไว้เมื่อเกิดเหตุติดเชื้อเล็กๆน้อยๆก็จะลุกลามใหญ่โตได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว
ฉนั้นโปรดตามหมอ ก่อนที่มันจะไม่กินหรือ เอาแต่นอน ไม่มีแรง ให้ตามหมอตั้งแต่มันเริ่มไออย่าปล่อยจนขี้มูกเหนียวข้นเป็นกาว
ลองนึกภาพของคนที่สูบบุหรี่ เขาก็มีถุงลมโป่งพองบางส่วน แต่ส่วนอื่นๆมันก็ทำงานชดเชยให้ก็ไม่มีอาการอะไรแต่หากเกิดปอดชื้นขึ้นก็ย่อมรุนแรงจนกลายเป็นปอดบวมแบบเร็วและร้ายกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ทำนองนั้น
ขอระบายหน่อยนะ ค่ะ
แบบว่ามาตามหมอตอนที่หัวใจมันกำลังจะไป หายใจไม่ไหวแล้ว ไม่กินอาหารแล้ว ร่างกายขาดน้ำอย่างมากหมอจะทำไงได้ ในเมื่อ
1 การให้ยาในสภาพร่างกายขาดน้ำนั้น เป็นผลเสียมากกว่าผลดี
2 ร่างกายที่ขาดน้ำ ต้องให้น้ำเกลือที่มีพลังงาน ก็ให้เร็วไม่ได้ เพราะเดี๋ยวน้ำจะไปท่วมปอดมากขึ้น
3 งั้นเปลี่ยนเป็นป้อน ก็กลืนไม่ไหวเพราะไม่มีแรง และกลั้นหายใจเวลากลืนไม่ได้ แค่นอนเฉยๆก็หายใจไม่พออยู่แล้ว
4 การให้น้ำเกลือที่ช้ามาก ไม่สามารถจะชดเชยการขาดน้ำที่รุนแรงได้ทัน และ ไม่สามรถเพิ่มความดันเลือดได้ก็ช่วยหัวใจไม่ได้อยู่ดี
5 การให้น้ำเกลือเข้าใต้ผิวหนัง ก็ดี แต่ไม่สามารถให้ชนิดที่มีน้ำตาลได้ แต่สัตว์ต้องการพลังงานจะเอาที่ไหนดี
6 ถ้าขั้นนี้แล้ว ต้องมีการให้ออกซิเยน แต่หมอก็แบกถังไปไม่ได้ ครั้นอุ้มแพะขึ้นรถ มันก็หัวใจจะวายแล้วและค่าใช้จ่ายก็เป็นคำตอบที่บอกว่าราคาไม่ได้ เพราะให้กันเป็นวันๆ
ฉนั้น ฉนั้น ฉนั้น โปรดเรียกหมอตั้งแต่มันเริ่มไอ(แบบว่าเหนื่อยและบำบากมาก ในการกู้ชีวิต และมักไม่ทันการณ์ แล้วแพะก็มักจะแกล้งหมอด้วยการดีขึ้นในช่วงแรกๆ พอหมอจะกินข้าวเย็นหรือจะเข้านอน มันก็เริ่มจะออกเดินทางเหมือนหลอกให้เราหนื่อยฟรี ตั้งหลายชั่วโมง แต่จริงๆแล้ว อากาศช่วงหัวค่ำ เป็นอาการที่ไม่เหมาะสมถ้าทำงานสำเร็จจะไม่รู้สึกเหนื่อยเลย แต่พอมันตายนะ จะเหนื่อยไปอีกเป็นวันๆ)
คำตอบเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่หมอ แต่อยู่ที่โรงเรือน นะคะ
Credit:ภาพจาก http://www.fao.org/ag/aga/agah/empres/GEMP/resources/prnt-ppr-cp-PPRman.htm
เขียนโดย Unknown ที่ 11:08 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: สุขภาพแพะ, เสียงปอดของแพะ
วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
เริ่มต้นอย่างไรกับการเลี้ยงแพะ
สนใจอยากจะเลี้ยงแพะ ควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี, เลี้ยงแพะเนื้อหรือแพะนมดี เลี้ยงแพะพันธุ์ หรือแพะขุน อย่างไหนดีกว่ากัน เลี้ยงแพะพันธุ์อะไรดี สร้างโรงเรือนแบบไหนถึงจะดี เลี้ยงแพะแล้วจะขายให้ใคร คำถามเหล่านี้ดูจะเป็นคำถามยอดฮิตประจำเว็บบอร์ดเลยก็ว่าได้
และหนึ่งในนั้นก็คือผมเอง เมื่อครั้งแรกเริ่มหาคำตอบบางอย่างให้กับตนเอง และก็มีเพื่อนๆ แห่งโลกไซเบอร์ ช่วยกันขานไขให้คำตอบมาหลายต่อหลายท่าน แตกต่างกันไป หลายๆ ท่าน หลายๆ คนเชิญชวนให้ไปเที่ยวชมถึงฟาร์ม ได้พูด ได้คุย ซักถาม เบื้องลึกเบื้องหลังกันได้เต็มที่ ก็พอจะประมวลได้ว่า เราควรจะเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลก่อนเป็นอันดับแรก ศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ข้อมูลที่ควรจะรู้ก็ได้แก่ พันธุ์แพะสายพันธุ์ต่างๆ แล้วดูว่ามีสายพันธุ์ใดบ้างที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เราตั้งใจว่าจะใช้เป็นสถานที่ตั้งฟาร์มของเรา
เมื่อเข้าใจเรื่องสายพันธุ์ที่น่าจะเลี้ยงแล้ว ก็ต้องหาข้อมูลเรื่องการตลาด ว่าตลาดที่เราต้องการนั้นอยู่ทีใด อยู่ในประเทศหรือนอกประเทศ ถ้าอยู่ในประเทศแล้วอยู่ส่วนไหนของประเทศ อย่าลืมว่ายุคนี้เป็นยุคทุนนิยมผ่านคอมพิวเตอร์ข้อมูลเดินทางได้เร็วมาก ใครมีข้อมูลดีย่อมได้เปรียบ และถ้าใครที่มีทุนหนาด้วยยิ่งน่ากิ่งเกรง ดังนั้นถ้าจะทำธุรกิจการเกษตรด้านแพะก็ต้องพร้อมด้วยข้อมูลด้านนี้เพื่อป้องกันความล้มเหลวในธุรกิจของเรา
ข้อมูลด้านต่อไปที่ควรจะรู้ก็คือ อาหาร ทั้งอาหารหยาบและอาหารข้น เพราะถ้าเราจะเลี้ยงแพะเชิงธุรกิจแล้ว อาหารถือว่าเป็นหัวใจของการเลี้ยง อาหารดีมีคุณค่ามาก สร้างประโยชน์กับแพะในการแปลงหญ้าและอาหารเป็นนมและเนื้อได้ดี
อีกเรื่องก็คือเรื่องโรค โรคแพะที่สำคัญ เป็นกันมาก และทำความเสียหายมาก หรือว่าโรคธรรมดาๆ แต่ว่าสามารถสร้างความเสียหายได้ถ้าหากว่าเราละเลย ศึกษาวิธีป้องกันและบำบัดอย่างถูกต้อง ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อม
ส่วนโรงเรือนก็ยึดหลักว่า ให้แพะอยู่สบายก็แล้วกัน คำว่าสบายๆ ทุกท่านคงจะเข้าใจดีกันอยู่แล้ว คุณหมอพรหล้า เคยพูดว่า อยู่ภาคอีสานแล้วสร้างโรงเรือนขวางตะวันอย่างนี้แพะก็ร้อนตาย แล้วแพะมันจะสบายๆ ได้อย่างไร อย่างนี้แพะก็เครียด ผลผลิตก็ลดลงด้วย ส่วนควรจะลงทุนเท่าไรนั้น ก็ตามกำลังทรัพย์ก็แล้วกัน
และที่สำคัญและไม่รู้ไม่ได้ คือเรื่องการจัดการฟาร์ม บริหารจัดการอย่างไรให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด มีคุณภาพที่สุด และไม่เป็นเหตุให้เกิดปัจจัยลบด้านต่างๆ ตามมาด้วย
แพะพันธุ์ดี กินหญ้าดีอาหารดี อยู่สบายดี คนเลี้ยงจัดการดี เท่านี้ธุรกิจการเกษตรแพะก็ไปได้โลดแล้ว
Credit: ปากกานาพายัพ, นิตยสารแพะเศรษฐกิจ, ปีที่1, ฉบับที่2, วันที่ 15 ต.ค. - 14 พ.ย. 49 บทบรรณาธิการ เรื่องแพะ
เขียนโดย Unknown ที่ 12:20 13 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, เริ่มต้นอย่างไรกับการเลี้ยงแพะ