วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550

หรือว่า "เลี้ยงแพะ" จะดีจริง


นิตยสารโลกปศุสัตว์ ได้รายงานราคาปศุสัตว์ เอาไว้น่าสนใจทีเดียว หนึ่งในนั้นก็คือ "แพะ" ความต้องการยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของแพะเนื้อและแพะนม แต่ปัจจุบันปริมาณแพะที่ผลิตได้ในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้การบริโถคจะอยู่ในเฉพาะกลุ่มมุสลิม ซึ่งความต้องการใช้เนื้อแพะคนละไม่ต่ำกว่า 15 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพื่อการบริโภคและใช้ในพิธีกรรม ซึ่งประชากรมุสลิมมีอยู่ประมาณ 5% ของประชากรทั้งประเทศ

การผลิตที่ไม่พอเพียงส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านสายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่แพะที่เลี้ยงเป็นพันธุพื้นเมือง ที่การเจริญเติบโตหรือให้เนื้อค่อนข้างต่ำ แต่การจัดการค่อนข้างง่าย ปัจจุบันได้มีการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศ เข้ามาปรับปรุงสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งได้รับความสนใจจากคนเลี้ยงเป็นอย่างดี

สำหรับราคาแพะเป็นอยู่ที่ 60-65 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเขียงจำหน่ายกิโลกรัมละ 80-120 บาท ส่วนราคาจำหน่ายพันธุ์ในประเทศ แพะพื้นเมือง อายุ 3 เดือนขึ้นไป ตัวละ 2,000-5,000 บาท

แล้วปริมาณแพะจำนวนเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ คำถามนี้ขอตอบแบบอธิบายย่อๆ ดังต่อไปนี้

ถ้าประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านคน จำนวนประชากรมุสลิม 5% เท่ากับ 3 ล้านคน ถ้ามุสลิม 1 คนมีความต้องการใช้เนื้อแพะประมาณ 15 กิโลกรัมต่อปี ประชากร 3 ล้านคนต้องใช้เนื้อแพะถึง 45 ล้านกิโลกรัมต่อปี

แล้วแพะจำนวน 45 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นตัวได้กี่ตัว ข้อนี้ ตอบอธิบายสั้นๆ ว่าถ้าแพะหนึ่งตัวเนื้อน้ำหนักเฉลี่ย
20 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 2 ล้าน 2 แสน 5 หมื่นตัว (2,250,000)
30 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 1 ล้าน 5 แสนตัว (1,500,000)
40 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 1 ล้าน 1 แสน 2 หมื่น 5 พันตัว (1,125,000)
50 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 9 แสนตัว (900,000)


จากรายงานของกรมปศุสัตว์ ปี 2549 ประเทศไทยสามารถผลิตแพะรวมได้ประมาณ 3 แสนตัว นับว่ายังขาดแพะเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะแพะที่สามารถทำการค้าขายได้ประมาณ 10-30% ของจำนวนแพะที่เกษตรกรเลี้ยง ที่เหลือเก็บไว้เป็นแพะต้นทุนบ้าง แพะท้อง แพะแรกคลอดหรือแพะยังไม่หย่านม และยังมีแพะจำนวนหนึ่งถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จึงเป็นการดูดแพะออกไปจากตลาดภายในประเทศด้วย

มาเลี้ยงแพะกันดีกว่า
ชุมทางแพะ ขอสนับสนุนให้เกษตรกรไทย หันมาสนใจทำอาชีพการเลี้ยงแพะ อาจเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงเพื่อเสริมอาชีพที่มีอยู่เดิม ไว้เป็นตัวเลือกในการปรับพัฒนาอาชีพในอนาคต เพราะอะไรหรือถึงกล้ากล่าวเช่นนี้ ลองมาดูเหตุผลข้อเด่นข้อด้อยเพื่อเปรียบเทียบดูดังต่อไปนี้

ข้อเด่นที่เห็นมีดังนี้
1. ผู้เลี้ยงส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อย ใช้แรงงานในครัวเรือน และใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเป็นอาหารแพะ ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ เช่น ปลูกข้าวโพดหักฝักขาย แล้วใช้ต้นและใบเป็นอาหารแพะ
2. ในหลายท้องที่มีวัตถุดิบอาหารแพะราคาถูกและเพียงพอสำหรับการเลี้ยง
3. การผลิตยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงไม่มีปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาด
4. พ่อพันธุ์แม่พันธุ์คุณภาพดียังขาดแคลนและราคาสูง

แล้วข้อที่ไม่เด่นมีอะไรบ้าง จะได้ปรับปรุง และแก้ไขต่อไป
1. ผู้เลี้ยงเป็นเกษตรกรรายย่อย ขาดการรวมกลุ่ม ทำให้ยากต่อการควบคุมปริมาณและคุณภาพการผลิต ชุมทางแพะ สนับสนุนการรวมกลุ่มกันมาตลอด
2. ยังไม่ปลอดโรค นับว่าเป็นปัญหาที่ทำร้ายเกษตรกรตลอดมาและก็คงตลอดไปอีกนาน
3. การใช้พื้นที่ของเกษตรกรยังไม่เหมาะสม ทำให้พืชอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ บางคนมีพื้นที่เพียงไม่กี่ไร่แต่อยากเลี้ยงแพะเป็นร้อยๆ ตัว พอหน้าเลี้ยงแพะผอมบักโกรกเพราะกินไม่อิ่ม ก็โดนหลอกซื้อว่าแพะเป็นพยาธิ อมโรค ผอมกะหร่อง กะแหร่ง
4. ต้องสร้างโรงเรือนให้แพะได้นอนที่สูง ทำให้มีต้นทุนสูงไปด้วย ผลตอบแทนต้องใช้เวลานาน และขาดแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
5. ขาดแคลนพันธุ์แพะคุณภาพดีและมีราคาสูง
6. การซื้อขายแพะยังไม่มีมาตรฐานทั้งในด้านคุณภาพและราคา
7. ขาดการประชาสัมพันธ์ การสร้างค่านิยมในการบริโภคทั้งนมแพะและเนื้อแพะ ยังมีความคิดอคติว่ามีกลิ่นสาป

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ดูแล้วในอนาคต การเลี้ยงแพะจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะเป็นการเลี้ยงแพะเพื่อการค้า หรือการเลี้ยงแพะเชิงธุรกิจ หรือการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ แล้วแต่ใครจะเรียก แต่ชาวบ้านเรียกว่า การเลี้ยงแพะไว้ขาย

ไม่มีความคิดเห็น: