วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550

การเลี้ยงแพะ "ง่าย "จริงหรือ ?


"แพะเลี้ยงง่ายจะตาย" หรือ "แพะเลี้ยงง่ายนิดเดียว" หรือ "เลี้ยงแพะไปเถอะไม่มีอะไรหรอก" กว่าจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำพูดเหล่านี้ ก็ได้ตัดสินใจเลิกกิจการไปแล้ว จึงได้เข้าใจคำว่า "เลี้ยงแพะไปเถอะไม่มีอะไรจริงๆ"


หรือบางท่านก็เกือบจะเลิกกิจการไปแล้ว เพราะได้ประกาศขายแพะยกฟาร์มไปแล้ว แต่เผอิญไม่มีผู้ซื้อ จำต้องกัดฟันสู้ต่อ จึงอยู่ได้ตราบเท่าวันนี้

"แพะเลี้ยงง่ายจะตาย" เป็นสำนวนของเจ้าของไร่คุณสุข & คุณสุขฟาร์ม เมื่อครั้งเตรียมการจัดชุมทางแพะสัญจรครั้งที่ 3 ทำให้ได้เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วหมายความว่าอะไรหรือท่าน เจ้าของไร่ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "ก็หมายความตามนั้น" แล้วก็หัวเราะ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเข้าใจว่าอย่างไร ส่วนผมเข้าใจว่า "เลี้ยงแพะง่าย = จะตาย"
แล้วก็ทำให้ย้อนนึกถึงคำพูดของลุงซ้ง จ.นครปฐม เมื่อครั้งได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มว่า "ผมเลี้ยงแพะเหมือนลูกเหมือนหลาน ทั้งห่มผ้า ทั้งป้อนนม ยิ่งถ้าเป็นแฝดสามละก้อ ไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอนกันเลย" แสดงว่าต้องรักและเอาใจใส่แพะจริงๆ

ก่อนตัดสินใจเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ควรศึกษาข้อมูลเรื่องแพะ ให้เพียงพอก่อน ศึกษาให้รู้ก่อนเลี้ยงเปรียบกับการเตรียมตัวแต่งงานได้เลย ต้องรู้เขารู้เรา รู้ว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไร และจะรับมือกับเขาอย่างไร ส่วนรู้เรา ต้องรู้ว่าเราชอบเลี้ยงสัตว์จริงหรือเปล่า หรือว่าเห็นว่าน่ารักจึงเลี้ยงพอเบื่อก็ปล่อยทิ้ง เรารู้ทันแพะหรือไม่ เรารู้ทันโรคแพะหรือเปล่า เตรียมหาวิธีรับมือกับปัญหาต่างๆ ไว้แล้วหรือยัง แล้วปัญหาคืออะไร? หลายท่านอาจจะพบและตอบได้แตกต่างกันไปเช่นตัวอย่างที่ได้มาจาก ดร.วีรพล สุวรรณนันต์

ท่านที่1 "ปัญหา คืออุปสรรค"
ท่านที่2 "ปัญหา คือข้อขัดข้อง"
ท่านที่3 "ปัญหา คือข้อที่จะต้องแก้ไข"
ท่านที่4 "ปัญหา คือสิ่งที่แก้ไขไม่ได้"
ท่านที่5 "ปัญหา คือคำถาม"
ท่านที่6 "ปัญหา คือส่งที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร"
ท่านที่7 "ปัญหา คือสิ่งที่ไม่รู้คำตอบ"
ท่านที่8 "ปัญหา คือสิ่งที่เราไม่รู้"
ท่านที่9 "ปัญหา คือสิ่งที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวัง"
และอื่นๆ อีกมากมาย จะเห็นว่า แค่คำว่า ปัญหา ยังจำกัดความได้แตกต่างกันไป แล้วจะแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีอย่างไร

ปัญหาที่มือใหม่พบเสมอๆ ได้แก่การคัดเลือกซื้อแพะมาเลี้ยง คือมีปัญหาตั้งแต่เริ่มเลยว่างั้นเถอะ ขอแนะนำว่า อย่าได้ซื้อแพะที่เจ้าของเดิมคัดทิ้งมาเลี้ยง เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี จะทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังและท้อถอย และหลายๆ ท่านได้ถอดใจมาแล้ว เพราะแก้ปัญหาไม่ตก

การเลี้ยงแพะสำหรับมือใหม่ คือการทำข้อสอบภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ทำแบบฝึกหัดมาก่อน หรือทำการบ้านมาไม่ดีพอ ท่านจะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยาก และสับสนไปหมดเมื่อพบปัญหาหรือข้อสอบ ไม่รู้ข้อไดถูก ข้อไดผิด ถูกทุกข้อ หรือผิดหมดทุกข้อ เช่น เมือพบว่าแพะเจ็บป่วย ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือแพะอย่างไร ลำพังเรื่องพื้นๆ ยังเป็นปัญหา แล้วเรื่องหมอ เรื่องยา ไม่ต้องพูดถึง ก็ได้แต่ถามคนอื่นๆ เป็นเรื่อยไป คนที่1 วินิจฉัยว่าอย่างนี้ คนที่2 วินิจฉัยว่าอย่างนั้น ถาม 3 คนตอบ 3 อย่าง ให้ใช้ยา 3 ตัว แล้วผู้เลี้ยงมือใหม่จะทำอย่างไร ได้แต่งง และมั่วทั่วไป เดาเอาว่า น่าจะเป็น น่าจะใช่ และสุดท้ายกลายเป็นแพะตุ๋น
ที่กล่าวมาไม่ได้ยอมรับว่ามันน่ากลัว เพียงแนะนำว่า ควรศึกษาให้รู้ก่อนเลี้ยง เช่น รู้ว่าแพะที่เราซื้อมาเลี้ยง เจ้าของเดิมได้เลี้ยงอย่างไร เลี้ยงแพะแบบไฮโซ หรือว่าเลี้ยงแพะแบบพอเพียง การกินอยู่เป็นอย่างไร เมื่อมาอยู่กินกับเราก็ควรให้เป็นเช่นเดิมไปก่อน ถ้าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็ให้ค่อยเป็นค่อยไป อย่างหักด้ามพร้าด้วยเข่า จะได้ไม่คุ้มเสีย

ถ้าท่านดูแลแพะอย่างเอาใจใส่และใกล้ชิด ว่างๆ ลองตั้งโจทย์ปัญหาถามตอบเล่นๆ เชื่อว่าเมื่อพบปัญหาเกิดขึ้นจริง ย่อมแก้ไข ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

"ยา ไม่ใช่ ขนม"

ผู้เลี้ยงบางท่านเป็นห่วงสุขภาพแพะมาก พอได้แพะมาเข้าฟาร์ม ก็จัดการปูพรมระดมฉีดยาขนานใหญ่ ทั้งฉีดวัคซีน ฉีดบำรุง ฉีดถ่ายพยาธิ และได้ผลทันตาเห็น "ตาย" แต่ไม่ใช่พยาธิ กลับกลายเป็น "แพะ" เพราะแพะแพ้ฤทธิ์ยา เรียกว่า ยาแผลงฤทธิ์

ยา ไม่ใช่สิ่งวิเศษเจ็ดอย่างที่ใครต่างหวัง แต่ยาคือวัตถุ หรือสารมีฤทธิ์และสามารถออกฤทธิ์ได้
ยา มีอิทธิฤทธิในตัว มีกระบวนการออกฤทธิ์ เมื่อยาออกฤทธิ์ ย่อมมีผลกระทบต่อส่วนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ
ยา เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ย่อมมีกระบวนการขับออกจากร่างกายเช่นกัน ถ้าขับไม่ออกเรียกว่าสารตกค้าง

*** ยา ใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น ***
ยา ไม่ใช่ขนมผสมน้ำยา ฉะนั้นการใช้ยาควรเป็นหน้าที่ของหมอหรือสัตวแพทย์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ หาไม่แล้วถ้ายาแผลงฤทธ์ ย่อมเกิดการสูญเสียมากกว่าคุณประโยชน์ แล้วจะพาลโทษว่า "ยาไม่เป็นยาเลย"

ไม่มีความคิดเห็น: