วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550

พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง


มีคนมาสะกิดบอกว่าช่วยขยายความให้มากกว่านี้หน่อย อ่านแล้วขี้เกียจตีความ และก็ไม่อยากไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม ไหนๆ ก็เข้ามาอ่านแล้ว ก็ให้มันจบและเข้าใจตรงนี้เลย

แป๋ว ว ว ว แสดงว่ามีคนว่าข้าน้อยพูดแล้วเข้าใจยากอีกคนแล้ว ก็ขอแก้ตัวหน่อยก็แล้วกันว่า อันที่จริงแล้วอยากจะเขียนยาวๆ แต่คิดเอาเองว่า คนไทยส่วนมากยังไม่ค่อยชอบอ่านอะไรที่มันมีเนื้อหายาวๆ ก็เลยพยายามจะสั้นเข้าไว้

พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็ขอขยายความต่อ โดยนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเดิมก็แล้วกันเพราะสั้นและเข้าใจง่ายซึ่งจัดทำโดย สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในหัวข้อ พฤติกรรมของสัตว์ที่เหมาะสมต่อการเป็นสัตว์เลี้ยง เนื้อหาไม่ขอเปลี่ยนแปลงและขอนำมาถ่ายทอดต่อทั้งดุ้นอีกเช่นเคย ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. สามารถอาศัยรวมกันเป็นฝูง หรือกลุ่มสังคมได้ ทั้งนี้เพื่อประหยัดพื้นที่โรงเรือนและอุปกรณ์ในการเลี้ยงดู เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็ด ไก่ เป็นต้น

2. มีการจัดอันดับทางสังคม (Social order) และอันดับทางสังคมของสัตว์แต่ละตัวค่อนข้างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ การจัดอันดับทางสังคมในฝูงสัตว์ทำให้ลดการต่อสู้แก่งแย่งกันระหว่างสัตว์ในฝูง ถ้าท่านเป็นคนช่างสังเกต หรือชอบดูสารคดีก็จะพบว่า สัตว์จะมีจ่าฝูงอยู่หนึ่งตัวเสมอในแต่ละฝูง ทำให้ง่ายต่อการดูแลและไล่ต้อน เพราะเวลาไปไหนเขาก็จะยกฝูงไปกันเป็นขบวน

3. สามารถผสมพันธุ์กันได้โดยไม่เลือกคู่ผสม และตัวผู้สามารถผสมกับตัวเมียได้หลายตัว (Polygenous) เพื่อเป็นการประหยัดไม่ต้องเลี้ยงตัวผู้ไว้เป็นจำนวนมาก และเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจัดระบบการผสมพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์ อันนี้ชัดเจนว่า เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์โดยไม่มีที่สุด และขยายเผ่าพันธุ์รวดเร็ว

4. ตัวผู้มีลักษณะต่างๆ แตกต่างจากตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด มีขนาดใหญ่กว่า มีหงอนโต กว่า หรือมีอาวุธต่างๆ เช่น เขา งา หรือเดือย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวผู้มีอันดับทางสังคมสูงกว่าตัวเมีย อันเป็นผลเพื่ออำนวยต่อการผสมพันธุ์แบบคุมฝูง

5. ลูกสัตว์มีการพัฒนาการต่างๆ อย่างสมบูรณ์เมื่อคลอด (Precocial development at birth) ทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างรวดเร็วหลังคลอด เพื่อให้แม่สัตว์เป็นอิสระจากการเลี้ยงลูกได้เร็ว และพ่อสัตว์ไม่มีส่วนในการเลี้ยงลูก นอกจากนี้การที่ลูกสัตว์มีการพัฒนาการด้านต่างๆ ดี ทำให้มนุษย์สามารถเข้าจัดการดูแลแทนแม่สัตว์ได้ เช่น เมื่อคลอดออกมาต้องเดินได้โดยเร็ว ไปหานมแม่กินเองได้ หรือกินอาหารเองได้หลังคลอดในไม่ช้า

6. แม่สัตว์ยอมรับเลี้ยงลูกของตัวอื่นได้ง่าย พฤติกรรมนี้ทำให้การจัดการดูแลสัตว์สะดวกขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแม่สัตว์ตายหรือไม่มีนมให้ลูกกินหลังคลอด ทำให้เราสามารถฝากลูกเลี้ยงได้เมื่อมีเหตุจำเป็น เช่นแพะมีลูกแฝด 3 หรือแฝด 4 สามารถฝากแม่ลูกเดี่ยวเลี้ยงได้

7. เป็นสัตว์ประเภทกินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) หรือกินได้ทั้งพืชและเนื้อเป็นอาหาร (Omnivore) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้อาหารที่มนุษย์ไม่สามารถกินได้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และไม่เป็นการแย่งอาหารของมนุษย์ด้วย

8. มีความสมารถสูงในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมต่างๆ และระบบการเลี้ยงดูของมนุษย์ ข้อนี้ก็สำคัญไม่น้อย เพราะถ้าไม่สามารถปรับตัวได้ หรือปรับตัวไม่ทัน ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะถ้าเราเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของการทำธุรกิจยิ่งต้องคำนึงให้มากๆ

หวังว่าท่านที่อุตส่าห์ตามอ่านมาถึงตรงนี้คงพอจะเข้าใจบ้าง ถ้าไม่เข้าใจ หรือเข้าใจดีกว่านี้ ก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเข้ามาได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: