วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2550

เรียนรู้พฤติกรรมของแพะ



พฤติกรรม คืออะไร สำคัญไฉน ทำไมเราถึงต้องเรียนรู้ รู้แล้วได้อะไร เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เดี๋ยวเราลองไปหาคำตอบกัน

ตามหลักฐานอ้างอิงแบบไทยๆ ก็ต้องยึดตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ บันทึกไว้ว่า

พฤติกรรม น. การกระทําหรืออาการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ ความคิด และความรู้สึก เพื่อตอบสนองสิ่งเร้า.

เขียนสั้นๆ ได้ว่า พฤติกรรม คือ การกระทำเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า

แล้วอย่างไรเรียกว่าตอบสนอง และอย่างไรเรียกว่าสิ่งเร้า

สนอง [สะหฺนอง] ก. ทำตามที่ได้รับคำสั่งหรือคำขอร้องเป็นต้น เช่น สนองโครงการในพระราชดำริ สนองนโยบายของรัฐบาล; โต้ตอบ เช่นกรรมตามสนอง, ตอบรับการเสนอ เช่น เสนอขาย สนองซื้อ. (ข. สฺนง).

เร้า ก. กระตุ้นเตือน เช่น เร้าอารมณ์; ปลุกใจ เช่น พูดเร้าใจ. ว. ที่กระตุ้น
เตือน เช่น สิ่งเร้า.

หวังว่าท่านคงจะสับสนกันพอสับควรแล้วกระมัง กับการใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในรูปแบบของชาวบ้านๆ อย่างผม

เรามาว่ากันต่อในเรื่องการเรียนรู้พฤติกรรมของแพะกันต่อดีกว่า "การเรียนรู้พฤติกรรมของแพะอย่างถ่องแท้ จะเป็นแนวทางให้เราสามารถจัดการระบบต่างๆ ได้ถูกต้องตามความต้องการของแพะนั้นๆ เมื่อแพะมีอาการผิดปกติ เป็นสัญญาณบอกให้รู่ว่าแพะได้มีอาการป่วยไข้แล้ว จึงต้องดำเนินการป้องกันและรักษาโดยด่วน" (ปริศนา จิตต์ปรารพ,ต้นทุนและผลตอบแทนจากการเลี้ยงแพะนม ในฟาร์มขนาดใหญ่ กรณีศึกษา บริษัท สยามแผ่นดินทอง จำกัด) แล้วพฤติกรรมของแพะเลี้ยงจะเป็นอย่างไร

แพะ จัดเป็นสัตว์เลี้ยงชินดหนึ่ง ดังนั้นพฤติกรรมหลักๆ ของสัตว์เลี้ยงย่อมไม่ต่างกันมากนัก เช่น อาศัยรวมกันเป็นฝูงหรือกลุ่มสังคมได้ เพื่อประหยัดพื้นที่และอุปกรณ์การเลี้ยง มีการจัดอันดับทางสังคม ผสมพันธุ์ได้โดยไม่เลือกคู่ ตัวผู้มีลักษณะแตกต่างจากตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด ลูกสัตว์มีการพัฒนาดีเมื่อคลอด แม่สัตว์ยอมรับเลี้ยงลูกตัวอื่นได้ง่าย เป็นสัตว์กินพืชหรือกินทั้งพืชและเนื้อ และสุดท้ายมีความสามารถสูงในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม

"พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง (Ethlogy) เป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมถึงการแสดงอริยบทต่างๆ ของสัตว์มากมาย เช่น การหายใจ การกินอาหารและน้ำ การต่อสู้ การสืบพันธุ์ การให้น้ำนม เหล่านี้เป็นต้น" (น.สพ. ถวัลย์ วรรณกุล การเลี้ยงแพะและการป้องกันรักษาโรค)

แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กกินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะแพะชอบกินใบไม้ พุ่มไม้ จะปีนป่ายและกินใบไม้และเปลือกไม้อ่อน แพะชอบออกหาอาหารกินเองมากกว่า ชอบกินใบไม้มากกว่าหญ้า เลือกกินอาหารที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นดิน และไม่ชอบกินอาหารชนิดเดียวเป็นเวลานานๆ

นอกจากแพะจะปีนป่ายได้เก่งแล้ว ยังสามารถ มุด ลอด และกระโดดได้เก่งอีกด้วย แพะเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น แม้กระทั่งเรื่องการกิน มีอะไรให้กินก็ต้องขอลองกินดูก่อน กินได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง

"ปริมาณที่แพะกินได้ 3-6% ของน้ำหนักตัว
แพะเลือกกินไม้พุ่ม 72 % หญ้า 28%
แพะจะเดินหากินอาหารได้ไกลถึงวันละ 6-8 กิโลเมตร
แพะถ้าเลี้ยงแบบขังจะกินน้ำวันละ 0.68 ลิตร/ตัว
ถ้าเลี้ยงแบบปล่อยแพะจะกินน้ำวันละ 2 ลิตร/ตัว
ใช้เวลากินอาหาร 30% เคี้ยวเอื้อง 12%
เดินทางหาอาหาร 12% และพักผ่อน 46%"

(เอกชัย พฤกษ์อำไพ, คู่มือการเลี้ยงแพะ)

ทั้งหมดเป็นพฤติกรรมทั่วๆ ไปและพฤติกรรมการกินอาหารของแพะ หวังว่าท่านคงพอจะรู้จักแพะได้ดีขึ้นระดับหนึ่งแล้วกระมัง

ภาพจาก moment.ee

6 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก