วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550

"น้องกาย"(Guy) แพะโคลนนิง ฝีมือคนไทย


ดร.ประสาท สืบค้า อธิบการบดี มทส.(ซ้าย) และดร.รังสรรค์ พาลพ่าย (ขวา) อวด "น้องกาย" ลูกแพะโคลนนิงที่กำเนิดจากการโคลนด้วยเซลล์ต้นกำเนิดจากใบหูเป็นรายแรกของโลก

มทส.โชว์ “น้องกาย” ลูกแพะโคลนนิงจากเซลล์ใบหูตัวแรกของโลก และนับเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่สามารถโคลนแพะได้สำเร็จ "ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย" เจ้าของผลงานเตรียมโคลนให้ครบ 20 ตัวในปี 2550 พร้อมต่อยอดโคลน "เลียงผา" สัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เผยถึงความสำเร็จในการโคลนนิงแพะจากเซลล์ใบหูของแพะพันธุ์บอร์ซึ่งเป็นพันธุ์เนื้อ โดยได้ลูกแพะเป็นเพศผู้ที่ผ่าตัดทำคลอดเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นรายที่ 4 ของโลกที่โคลนนิงแพะสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังเป็นแพะตัวแรกของโลกที่กำเนิดด้วยการโคลนนิงโดยใช้เซลล์จากใบหู ซึ่งโดยปกติในต่างประเทศจะใช้เซลล์จากลูกอ่อน (Fetus) ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่อยู่ในมดลูก ทว่าทีมวิจัยจะได้โคลนนิงด้วยวิธีหลังเพื่อเปรียบเทียบด้วย

สำหรับแพะโคลนนิงวัย 1 เดือนกว่านี้ได้รับชื่อจากการประกวดว่า "น้องกาย" (Guy) ซึ่งสื่อความหมายถึงเพศผู้ในภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ ดร.รังสรรค์และทีมวิจัยได้นำเซลล์ใบหูของแพะพันธุ์บอร์เพศผู้ไปเก็บไว้ในธนาคาร จากนั้นเก็บไข่จากแพะเพศเมียที่เลี้ยงไว้สำหรับผลิตไข่โดยเฉพาะ ไปดูดเอานิวเคลียสออกและนำเซลล์ต้นแบบจากใบหูของแพะเพศผู้ใส่ลงในไข่ดังกล่าว แล้วเชื่อมด้วยกระแสไฟฟ้าก่อนนำไปฝากไว้กับแพะเพศเมียอีกตัวที่เลี้ยงไว้สำหรับอุ้มท้องโดยเฉพาะ

ดร.รังสรรค์ เปิดเผยว่า มีการย้ายฝากตัวอ่อนตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2549 โดยหลังจากผ่านไป 150 วันแล้วยังไม่การคลอดโดยวิธีธรรมชาติ ทางทีมวิจัยจึงตัดสินใจผ่าตัดเพื่อทำคลอดในวันที่ 153 ของการตั้งท้อง

"ที่เลือกวิธีโคลนนิงด้วยเซลล์ต้นแบบจากใบหูนั้น เพราะทีมวิจัยมีความชำนาญวิธีนี้เป็นพิเศษ โดยที่ผ่านมาได้โคลนิงวัว แมวด้วยเซลล์จากใบหูมาโดยตลอด และเก็บเซลล์จากต้นแบบได้ง่ายเพราะไม่ทำให้สัตว์บาดเจ็บ" ดร.รังสรรค์อธิบาย

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมาทีมวิจัยยังได้ผ่าตัดทำคลอดให้แพะเพศเมียอีกตัวที่ทำโคลนนิงด้วยเช่นกัน แต่ในเช้าวันที่ 6 ก.ค.ลูกแพะได้เสียชีวิตลง เบื้องต้นได้ผ่าซากพิสูจน์ และพบการขยายตัวของปอดที่ผิดปกติ แต่สัตวแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด และต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการอีกที เนื่องจากยังระบุไม่ได้ว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นผลขณะมีชีวิตอยู่หรือหลังจากเสียชีวิต

จากความสำเร็จในครั้งนี้ ดร.รังสรรค์เผยว่า ทีมวิจัยตั้งเป้าจะโคลนนิงแพะให้ได้ครบ 20 ตัวภายในปี 2550 และจะต่อยอดโคลนนิง “เลียงผา” หรือ “แพะภูเขา” ซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์เนื่องจากถูกล่าเพื่อนำมาทำน้ำมันใช้เป็นยาบรรเทาปวดตามความเชื่อ โดยสัตว์ทั้ง 2 ชนิดอยู่ในตระกูลเดียวกัน

ภาพและข่าวจากผู้จัการออนไลน์ 6 กรกฎคม 2550

พอดีคิดถึงแกะดอลลีและอยู่ระหว่างการค้นหาข้อมูล ก็ได้ชมข่าวคราวความสำเร็จของคนไทยระดับโลกอีกคนหนึ่ง ก็ถือโอกาสนำมาเผยแพร่ต่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลกว่าไทยเรานี้มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตแพะ

และในอนาคตถ้าหากว่ามีการอนุญาตให้เราสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตจริงได้แล้วประเทศไทยคงจะทัดเทียมและแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณอย่างแน่นอน

จากผลสำเร็จในครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นผลดีและความก้าวหน้าทางวิวัฒนาการ หรือว่าเป็นผลข้างเคียงต่อวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาค

ไม่มีความคิดเห็น: