วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550

พื้นเพ แพะพื้นเมือง


ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ควรเริ่มต้นจากแพะพันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะดี เพราะมีข้อดีหลายประการ เช่น สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งปีและเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพแวดล้อมของประเทศเรา ซึ่งสามารถปรับตัวเข้าสภาพแวดล้อมได้ดีอยู่แล้ว เลี้ยงดูง่าย ทนทานต่อโรคและพยาธิ และมีราคาที่ไม่แพงเหมือนแพะพันธุ์จากต่างประเทศ

เชื่อว่าคำตอบข้างต้นนี้ จะเป็นคำตอบที่มือใหม่จะได้รับจากการถามไถ่ออกไปแทบจะทุกรายไป ถ้าท่านไม่เชื่อก็ลองโพสถามคุณกู เกิ้ลดู หรือลองโพสถามไปตามกระดานถามตอบต่างๆ ว่าเราควรจะเริ่มต้นอย่างไรกับการเลี้ยงแพะ เพราะยังไม่เคยเลี้ยงเลย เกิดมาก็เพิ่งจะรู้จักแพะจากตรงนี้แหละ อะไรประมาณนั้น รับรองได้ว่าคำตอบที่ได้ไม่ผิดไปจากคำตอบข้างต้นมากนัก เชื่อขนมกินได้

บางท่านอาจจะเสริมไปว่า "ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน บวกกับวัตถุดิบที่มีในถ้องถิ่นเช่นพืชสมุนไพรต่างๆ มากมาย ที่มีให้แพะพื้นเมืองได้กินเป็นอาหาร ย่อมทำให้แพะที่เลี้ยงมีสุขภาพดียิ่งขึ้นไปอีก"

จากคำตอบต่างๆ ที่หลายๆ ท่านได้ช่วยกันให้คำตอบมานั้นแสดงว่า "แพะ" เป็นสัตว์ที่มีถิ่นเกิดอยู่ในประเทศไทยอยู่แต่เดิม เรียกได้ว่าแพะเป็นสัตว์ประจำถิ่น ประจำบ้าน ประจำเมือง หรือแพะท้องถิ่น แพะพื้นบ้าน แพะพื้นเมือง ก็ว่าได้

แต่ในชิวิตจริงกว่าที่ผมจะได้รู้จักแพะตัวเป็นๆ ก็ตอนที่โตเป็นหนุ่มแล้ว และได้มีโอกาสดินทางไปที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ขณะที่ขับรถไปตามเส้นทางสู่อำเภอเบตง เพื่อนที่นั่งไปด้วยในรถ ได้บอกเตือนให้ระวังแพะ เดี๋ยวจะไปชนแพะชาวบ้านเข้า รับรองไปไหนไม่ได้แน่นอน และก็คุยกันไม่รู้เรื่องด้วย ผมเลยถามไปว่าทำไมคุยไม่รู้เรือง เพื่อนตอบว่า เขาไม่พูดภาษาไทย และแพะของเขาก็เปรียบได้กับวัวของเราเชียวล่ะ แสดงว่าแพะเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสำหรับผู้คนถิ่นนั้น

ออกนอกเรื่องไปอีกแล้ว ผมพยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนเพิ่มเติมก็หาไม่ได้ว่าแพะ เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น หรือมีทั่วไปของประเทศ สุดท้ายก็ต้องถามคุณกู อันนี้เราต้องยอมรับว่าในโลกของไซเบอร์คุณกู เกิ้ล เขาไม่ใช่ย่อย ก็ได้คำตอบค่อนข้างเป็นที่พอใจจากรายงานการวิจัยของ ดร.วินัย ประลมพ์การญจ์ ดังต่อไปนี้

"ตามหลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับประวัติการเลี้ยงแพะในประเทศไทย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ รายงานปี พ.ศ. 2491 ว่าแพะที่เลี้ยงในประเทศไทยในขณะนั้นเข้าใจว่าเป็นแพะเลือดอินเดีย บางคนเรียกว่า แพะบังกะลา ซึ่งอาจหมายความว่าเป็นแพะที่มาจากเมืองบังกะลาหรือเบงกอล แพะที่เลี้ยงมีเขา หน้าโค้ง หูตก และหูยาวทั้งนั้น ยังไม่พบพันธุ์ที่ไม่มีเขา หูตั้งและหน้าตรง

แพะพื้นเมืองที่เลี้ยงอยู่ในภาคใต้เป็นแพะเนื้อ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแพะพันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเรียกว่าพันธุ์แกมบิง กั๊ตจัง (Kambing Katjang หรือ Katjang หรือ Kacang)"

นอกจากนี้แพะที่เลี้ยงกันแถบตะวันตก เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดนครสวรรค์ เข้าใจว่าเป็นแพะที่มาจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ เข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางประเทศเมียนมาร์ มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าแพะทางใต้ แพะกลุ่มนี้มีใบหูปรกยาวมาก ขายาว ผอมเก้งก้าง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "แพะพม่า" หรือ "แพะหูยาว"(ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี)

หวังว่าท่านที่อุตส่าห์ตามอ่านจนถึงตรงนี้แล้วคงจะได้คำตอบอะไรบ้าง เกี่ยวกับ"แพะพื้นเมือง" ถ้าท่านใดมีข้อมูลที่ใหม่กว่านี้ ก็แลกเปลี่ยนกันเข้ามาได้ครับ ขอขอบคุณภาพจาก คู่มือการเลี้ยงแพะ ของกรมปศุสัตว์ ณ ตรงนี้ไว้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: