วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550

แพะพื้นเมือง Where are you?


หลังจากที่ตามหาพื้นเพของแพะพื้นเมืองกันแล้ว ทีนี้เรามาตามดูกันต่อดีกว่าว่าแพะพื้นเมืองยังสบายดีอยู่หรือ และอยู่กันที่ไหนบ้าง ยังเหลืออยู่กันกี่มากน้อย อนาคตจะเป็นเช่นไร จะยังคงดำรงเผ่าพันธุ์กันต่อไป หรือว่าค่อยๆ ถูกกลืนหายไปกับการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ด้วยการผสมข้ามกับแพะพันธุ์ต่างถิ่นตามสมัยนิยมของนอก แล้วเรียกว่าเป็นการผสมพันธุ์แบบพัฒนาเพื่อยกระดับสายเลือดขึ้นไป ฟังแล้วรู้สึกดี และชื่นชมที่เกษตรกรบ้านเรารู้จักการพัฒนายกระดับสายพันธุ์ให้ดีขึ้นเพื่อวงการแพะบ้านเราจะได้ก้าวทันต่างชาติซะที

ในอดีตแพะมักจะได้รับความสนใจน้อยมากเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ การศึกษาและวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และประสิทธิภาพในการผลิตของแพะแทบจะไม่มีเลย ความสามารถในการผลิตของแพะพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ที่มีอยู่ก็เป็นผลมาจากการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าเราจะสามารถบอกถึงความแตกต่างระหว่างลักษณะภายนอกของแพะแต่ละพันธุ์ได้ แต่ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการผลิตของแต่ละพันธุ์ เช่นลักษณะการสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต การผลิตนม โรคและพยาธิแทบจะไม่มีเลย (เอกชัย พฤกษ์อำไพ)

ดร.สรศักดิ์ คชภักดี ได้เขียนลงหนังนิยสารสัตว์บกเอาไว้ในเรื่อง ควรจะเลี้ยงแพะเนื้อพันธุ์อะไรดีว่า แพะพื้นเมืองไทย ที่เป็นพื้นเมืองแท้ก็หายากเช่นกัน เพราะมักจะผสมกับพ่อพันธุ์บอร์หรือพันธุ์แองโกลนูเบียน เท่าที่ทราบปัจจุบันมีอยู่ฝูงหนึ่งมีแพะประมาณ 100 ตัว เลี้ยงอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร แพะพื้นเมืองฝูงนี้เป็นแพะที่ซื้อเข้ามาเป็นแม่พันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2528 และยังไม่มีการผสมข้ามกับแพะพันธู์อื่นๆ แพะพื้นเมืองไทยจากแหล่งอื่น ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันก็มีอยู่บ้าง แต่ผสมปนเปอยู่ในฝูงของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่นานอาจหมดไป เพราะแพะเหล่านี้ถูกผสมกับพ่อพันธุ์บอร์หรือแองโกลนูเบียน ลูกที่ได้ก็จะไม่เป็นพื้นเมืองอีกต่อไป ส่วนแม่แพะพื้นเมืองเมื่อถึงอายุไข (ประมาณ 8-10 ปี) ก็จะถูกคัดออกเพื่อจำหน่ายเป็นแพะเนื้อ

ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา บุคคลหลายกลุ่มได้ตระนักถึงความสำคัญของแพะ ได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับแพะอย่างกว้างขวางในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตามมีกลุ่มบุคคลอยู่ไม่น้อยที่พยายามยกระดับความสามารถในการผลิตของแพะโดยหวังผลในระยะเวลาอันสั้นด้วยการนำแพะพันธุ์อื่นเข้ามาผสมข้ามกับแพะพันธุ์พื้นเมืองเดิม ทั้งๆที่ไม่ได้ศึกษาให้แน่ชัดว่า พันธุ์พื้นเมืองเดิมนั้นมีคุณลักษณะที่ดีอย่างไรบ้าง จึงน่าเป็นห่วงว่าในที่สุดแล้วเราอาจสูญเสียแพะพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ดีไปหมดโดยไม่ทัีนรู้ตัว (เอกชัย พฤกษ์อำไพ)

ขอขอบคุณภาพจากคู่มือการเลี้ยงแพะ กรมปศุสัตว์,เอกชัย พฤกษ์อำไพ คู่มือแพะ, ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี นิตยสารสัตว์บก

ไม่มีความคิดเห็น: