ผมเลี้ยงแพะโดยการปล่อยเลี้ยงแบบไล่ต้อนตามที่สาธารณะ และปล่อยให้แพะผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติแบบตัวผู้คุมฝูง แล้วจะรู้ได้อย่างไรครับ ว่าแพะท้องแก่และใกล้จะคลอดแล้ว
ข้อนี้ไม่เป็นปัญหาครับ ถ้าจำวันผสมไม่ได้ หรือไม่รู้อะไรเลย รู้แต่ว่าแพะมันท้องแล้ว ก็ให้ใช้วิธีสังเกตอาการภายนอกก็แล้วกัน เพราะปกติแล้วแพะจะท้องนานประมาณ 150 วันบวกลบแต่ไม่ควรเกิน 5 วัน เพราะถ้าผิดไปจากนี้แล้วแสดงว่าเป็นอาการที่ผิดปกติ ต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์โดยด่วน
ขวนการคลอดของแพะ
เรามาดูอาการกันดีกว่าว่าแม่แพะจะมีอาการอะไรบ้างให้เป็นที่สังเกต ตามตำราการเลี้ยงแพะ ของอาจารย์สมเกียรติ สุวรรณสมุทร เขียนไว้ว่า วันที่ใกล้คลอดเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น จนถึงระยะ 1-2 วันกล่อนคลอดเต้านมจะเต่งตึงมาก และมีน้ำนมคั่งหรือไหลออกมา ท้องหรือสีข้างจะยุบตัวลง อวัยวะเพศบวมแดง และมีน้ำเมือกไหลออกมา
แม่แพะจะมีอาการหงุดหวิด กระวนกระวาย เดินวนไปวนมา ผุดลุกผุดนั่งหรือส่งเสียงร้อง ใช้ขาตะกุยที่นอนไปรอบๆ หรือใช้จมูกดมตามพื้น แม่แพะจะทำท่าเบ่งท้องหลายครั้ง น้ำเมือกที่อวัยวะเพศจะข้นมากขึ้น และขาวในที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าแม่แพะจะคลอดลูกภายใน 1-2 ชั่วโมงข้างหน้า
การคลอด แม่แพะจะยืนคลอด โดยมีถุงน้ำคร่ำออกมาก่อน เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก็จะเห็นลูกแพะโผล่ออกมาตามแรงเบ่ง ตามด้วยจมูก หัว และลำตัวในที่สุด เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วแม่แพะก็จะเลียตามตัวลูกจนสะอาด โดยเริ่มเลียที่จมูกลูกเพื่อจะได้รับอากาศทำให้หายใจสะดวก ต่อจากนั้นลูกแพะจะพยายามทรงตัวลุกขึ้นยืน และลูกแพะจะหาเต้านม เมื่อพบแล้วจะเริ่มดูดนม กระดิกหางอย่างมีความสุข แสดงว่าแม่มีน้ำนมไหลให้ลูกได้ดูดกินแล้ว และแม่ก็จะยืนเลียตัวลูกแพะจนกว่าเนื้อตัวจะแห้ง
ทำไมแพะชอบคลอดตอนกลางคืน
เรื่องนี้คุณหมอฟาร์มดี (Vetfarmde)บอกว่า "เป็นเพราะสัญชาตญาณความปลอดภัยค่ะ แต่ก่อนเขาอยู่ในป่าต้องหลบหลีกผู้ล่าให้ดีจึงต้องอาศัยสถานะการณ์ที่เงีบย สงบ และให้ความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งก็คือเวลากลางคืนนั่นเอง แต่เมื่อเขามาอยู่กับเราเขาก็ยังคงมีสัญชาตญาณความปลอดภัยอยู่
ฉนั้นเราจึงควรมีคอกคลอดให้เขาได้รู้สึกปลอดภัย และไม่ถูกรบกวนจากแพะตัวอื่นๆ ที่สำคัญคอกคลอดนั้นยังลดปัญหาการติดเชื้อ การดูแลก็ง่ายขึ้นสำหรับเรื่องควบคุมอุณหภูมิ ด้วยค่ะ" สรุปว่าห้ามรบกวนกระบวนการคลอดของแพะจะดีกว่า ดูอยู่ห่างๆ ก็พอเผื่อมีอะไร จะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงทีครับ
ขอขอบคุณภาพจาก Growning Small Farms
วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550
พฤติกรรมการคลอดของแพะ
เขียนโดย Unknown ที่ 15:36 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พฤติกรรมการคลอดของแพะ, พฤติกรรมของแพะ
วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550
เพราะรัก จำต้อง "ฆ่า"
วันนี้มีโอกาสได้ร่วมวงกินข้าวกับสาวๆ ในออฟฟิช ทั้งสาวเหลือน้อยและสาวไม่มาก ไม่รู้เป็นอะไรกัน นั่งเม้าท์กันในวงข้าว เรื่องราว ของ "นวลฉวี" และที่เพิ่งปิดคดีไปเมื่อไม่นานนี้ และอื่นๆ อีก 2-3 เรื่องที่เป็นตำนาน "หมอฆ่าเมีย" แล้วทำไมต้องฆ่า ฆ่าแล้วทำไมต้องหั่น หรือทำไมต้องชำแหละ ทำไม ทำไม เขาเป็นอะไร ????
โรคแพะ ปัญหาสาธารณสุข และปัญหาเศรษฐกิจ
และวันนี้ทำให้นึกถีงเรื่องราวของสมาชิกชุมทางแพะท่านหนึ่ง ที่อยู่ร่วมชะตาเดียวกันคือ "จำต้องฆ่า แม้ว่ายังรัก" ทั้งเสียใจและแสนเสียดาย เพราะนี่คือการสูญเสีย เป็นการเสียทั้งทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ
เรื่องราวมีอยู่ว่าสมาชิกท่านนี้ได้ทำการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มเพื่อให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สนองโครงการ "อาหารปลอดภัย" คนเลี้ยงปลอดภัย คนซื้อปลอดภัย คนขายปลอดภัย คนแปรรูปปลอดภัย และคนกินก็ปลอดภัย
หลังจากให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เจาะเลือดนำไปตรวจเพื่อพิสูจน์ทราบและวินิจฉัยโรค ว่าเป็นบรูเซลโลซิส (Brucellosis) หรือไม่ ผลปรากฏว่า เป็นผลลบ ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ เป็นอย่างยิ่ง เพราะสันนิฐานว่าเป็นโรคบรูเซลโลซิส และในจำนวนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ เป็นแพะท้องซะหลายตัว นั่นหมายถึง รายได้ในอนาคตที่จะได้รับจะต้องหลุดหายไปอย่างน่าเสียดาย เสียรายได้ เสียโอกาส และเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เพราะว่ามีแพะที่ตั้งท้อง ผู้เลี้ยงท่านนี้ไม่สามารถลบออกจากระบบได้ จะฆ่า ก็ฆ่าไม่ลง เพราะว่าแพะมันท้อง ดังนั้นจึงต้องเลี้ยงดูต่อไป และต้องลำบากจัดหาที่ทางเพื่อกักบริเวณ ไม่ให้มีโอกาสได้คลุกคลีกับแพะตัวอื่นๆ ปล่อยให้คลอดแล้วจึงค่อยลบ (Delete) ออกไปทั้งแม่ทั้งลูก
ด้านปัญหาสาธารณสุขที่ตามมาก็คือ โรคนี้เป็น"โรคสัตว์สู่คน"โรคสัตว์สู่คนแปลว่า ปกติแล้วเป็นในหมู่สัตว์แต่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ เมื่อเกิดขึ้นในคนแล้วจะไม่สามารถแพร่ไปสู่คนด้วยกัน นับว่าเป็นการสูญเสียกันยกใหญ่
ดังนั้น ต้องทำการตรวจโรคแพะก่อนทุกครั้ง จึงนำเข้าฟาร์ม ห้ามนำแพะที่ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด และตรวจทดสอบโรคปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย นี่คือการป้องโรคกันที่ดีเพราะว่า "โรคบรูเซลโลซิส ยังไม่มียารักษา"
รู้จักโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis)
โรคนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า "โรคแท้ง" หรื่อ "แท้งติดต่อ" หรือ"แท้งต่อเนื่อง" เพราะเมื่อเป็นโรคแล้วแพะมักจะมีอาการแท้งลูก (แพะเมื่อแท้งลูกแล้วในระยะหลังมักจะไม่พบการแท้งลูกอีก)
บรูเซลโลซิสในแพะมีสาเหตุจากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bruceela melitensis
แหล่งรังโรคคือ สัตว์ที่แท้งลูกพร้อมลูกสัตว์ สารคัดหลั่งต่างๆจากสัตว์ที่แท้ง จะทำให้บริเวณเลี้ยงสัตว์นั้นปนเปื้อน
การแพร่โรคจากฝูงหนึ่งไปอีกฝูงหนึ่งโดยมากเกิดจากการเคลื่อนย้ายสัตว์เป็นโรคที่ตั้งท้อง หรือ จากนำสัตว์พ่อพันธุ์เข้าฝูง
หรือบางครั้งอาจจะแพร่โรคโดยสุนัข โดยการกัด-แทะ และเคลื่อนย้ายซากลูกสัตว์ที่เป็นโรคไปตามที่ต่างๆ
เชื้อบรูเซลลา ถูกขับออกมาในน้ำนมได้นานเป็นปีหรือมากกว่า หลังจากสัตว์แท้งลูกสัตว์จะปล่อยเชื้อออกมาเป็นจำนวนมากในมดลูก สารคัดหลั่งที่ออกมาจากมดลูก และปัสสาวะ เป็นระยะ 1-3 วันหลังคลอด และจะปล่อยเชื้อได้นาน 4-6 เดือน
ในสัตว์ที่ไม่ตั้งท้องจะเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะเป็นตัวอมโรคและแพร่โรคได้ ส่วนตัวผู้มักพบอัณฑะอักเสบ
(สัตวแพทย์หญิงมนยา เอกทัตร์ กลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา )
การติดต่อของโรคบรูเซลโลซิส
1. โดยตรง เช่น การกิน, การสัมผัส
2. โดยอ้อม ไม่เจตนา แต่มาทางอากาศ เช่น การหายใจ ว้าว น่ากลัวจังเลย
โรคแท้งติดต่อ มีทางออก
โรคนี้ ติดทางสิ่งคัดหลั่งและการสัมผัส เช่น ผสมพันธุ์ เลีย ปัสสาวะ อุจจาระ
การตรวจ ใช้น้ำเลือด(ซีรั่ม) ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กทม. อยู่ในรั้วเดียวกันกับ ม.เกษตร อยู่ด้านหลังกรมป่าไม้
การตรวจที่ให้ผลลบ พอตรวจซ้ำให้ผลบวก นั้นไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของห้องแลบ แต่เป็นเพราะเจ้าเชื้อนี้มันสามารถหลบซ่อนได้ ทำให้เราเดี๋ยวเจอเดี๋ยวไม่เจอ อาจเป็นเหตุให้คนขัดแย้งกันได้
วิธีที่ใช้ตรวจนี้มีความไวมาก รู้ผลเร็ว และแนะนำให้ตรวจเดือนละ 1 ครั้งจนกว่าจะได้ผลลบทั้งฟาร์มติดกัน 3 ครั้ง จึงขยับไป อีก 6 เดือน และ 1 ปีได้ ที่ต้องตรวจเข้มขนาดนี้ เพราะว่ามันแพร่กระจายได้ง่าย ติดคนแล้วตายได้ และที่สำคัญมันหลบซ่อนในต่อมนำเหลืองได้เก่ง ถ้าเจอถือว่าโชคดีทีเดียว
อย่าได้เสียดายหรือเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ให้ตัดใจทำลายทิ้ง
อย่าขายต่อเพราะจะเป็นการทำร้ายกันเอง
คนต้องดูแลตัวเอง ด้วยหลักแห่งความสะอาดนั้นเพียงพอต่อการป้องกันตัว คนเชือดจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนกินสุก
เวลาเราไปเยี่ยมฟาร์มขอให้ช่วยกันจุ่มเท้าจุ่มล้อรถ
และอย่าจับแพะคนอื่นโดยไม่ล้างมือก่อนและหลัง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพในทรัพย์ของกันและกัน ค่ะ
ปล. ตรวจได้ทุกเพศทุกวัย ยกเว้น ลูกอายุต่ำกว่า 3 เดือน เพราะตรวจไปจะไม่เจอ
(พรหล้า, กระทู้ชุมทางแพะ)
ขอขอบคุณภาพจาก Skeptics Society และ fao
เขียนโดย Unknown ที่ 10:08 1 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: บรูเซลโลซีส Brucellosis, โรคแพะ, สุขภาพแพะ
วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2550
คนบ้าบอร์ (บัวร์)
ไอ้ผมนะ มันคนบ้าบอ ใครจะว่ายังไงก็ชั่ง ผมก็ยังบ้าบอ คุณโกร่งอาจจะบ้าแองโกล หรือซาแนน แต่ผมยังไงๆ ก็ต้องบอร์ แหม.. ฟังแล้วเข้าใจเกือบผิด ตกลงว่าบอร์ ไม่ใช่บอ ..เป็นเสียงของสมาชิกชุมทางแพะ รายงานถึงความก้าวหน้าของตนให้ฟัง ว่าตอนนี้เขาได้บอร์ลูกผสมแล้ว และตั้งใจเอาไว้ว่าจะทำตลาดกับเจ้าตัวนี้แหละ ถึงใครจะว่ามันมีน้ำนมน้อย ไม่พอเลี้ยงลูกแฝด แต่เขายังไม่ยอมปักใจเชื่อ อาจจะเป็นเพราะคนที่พูด บำรุงน้ำนมไม่ถูกวิธีก็เป็นได้ สมาชิกชุมทางแพะเน้น
บอร์(บัวร์)Boer เป็นใคร มาจากไหน
เรามาตามหาบอร์ (บัวร์) กันดีกว่า ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หน้าตาเป็นแบบไหน หล่อ เท่ห์ระเบิด สวยเริด ประเสริฐศรี เพียงใด ทำไมหนอ ถึงใครต่อใคร ต่างก็อยากได้มาครอบครองกันจัง
สมาคมแพะพันธุ์บอร์ (บัวร์) สหรัฐอเมริกา (American Boer Goat Association,ABGA)กล่าวไว้ว่า แพะพันธุ์บอร์(บัวร์)ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อต้นศตวรรษปี 1900 ซึ่งคำว่า บอร์หรือบัวร์ (Boer)เป็นภาษาดัช (เป็นภาษาของชนเผ่าในประเทศเนเธอร์แลนด์)ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Farmer นะเอง สืบย้อนไปได้ว่า เกษตรกรชาวดัช (Dutch)แห่งประเทศอัฟริกาใต้คนนี้เป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์นี้ขึ้นมา โดยตั้งหลักอยู่บนพื้นฐานเพื่อการผลิตแพะเนื้อคุณภาพเยี่ยม อัตราการเจิญเติบโตเร็ว และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เก่ง อันนี้ขอให้คิดถึงสภาพแวดล้อมของประเทศแถบอัฟริกาใต้เป็นหลักก็แล้วกัน
รูปพรรณสันฐานของ บอร์(บัวร์) เป็นเช่นไร
โดยปกติแล้วบอร์(บัวร์)ทุกสายพันธุ์ จะต้องมีขนเป็นมัน หัวและคอมีขนสีน้ำตาลแดง ลำตัวขนสีขาว เท่าที่พบก็จะมี สายพันธุ์ขนสั้น, สายพันธุ์ขนยาว, สายพันธุ์มีเขา, และบางท่านบอกว่าสายพันธุ์ไม่มีเขาอีกหนึ่ง (ซึ่งข้อนี้ขอสงวนสิทธิ์เอาไว้ก่อนว่าจะหาข้อมูลเพิ่มเติม ละไว้ในฐานยังไม่แน่ใจว่าจะเชื่อก็แล้วกัน แต่ก็ขอเล่าสู่กันไว้)
รูปร่าง โครงสร้างใหญ่และน้ำหนักตัวดี โดยตัวผู้โตเต็มวัยหนักประมาณ 90 กิโลกรัม ตัวเมีย หนักประมาณ 65 กิโลกรัม น้ำหนักแรกคลอด ประมาณ 4 กิโลกรัม
หัวโหนก หน้างอก, จมูกโด่งและงุ้ม, มีเขาห้อยลงแล้วโค้งไปทางหู, เหล่านี้คือลักษณะเด่นหลักๆ ในการพิจารณาลักษณะภายนอกด้วยสายตาของแพะพันธุ์บอร์ อย่างไรเสียใบรับรองพันธุ์ประวัติและหนังสือพาสปอร์ตแพะย่อมเป็นสิ่งยืนยันประกอบได้ดีกว่า
สำหรับประเทศไทยมีผู้นำเข้าทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ก็ลองซื้อหามาครอบครองเป็นเจ้าของกันได้ ยังไงๆ ก็ขอให้ได้บอร์พันธุ์แท้(บริสุทธิ์) ก็แล้วกัน จะได้อวดเพื่อนๆ ได้ว่าเราก็มี "ราชาแห่งแพะเนื้อ " กับเขาเหมือนกัน ขออย่าได้เป็นเช่นหลายๆ คนที่ได้บอร์ร้อยมา ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจชัดนักว่า ได้บอร์ร้อยมา แปลว่าอะไร
ภาพจาก Lino Rulliและ boer-show-goatsและ the 4-H Meat Goat
เขียนโดย Unknown ที่ 18:20 4 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พันธุ์แพะ, แพะพันธุ์บอร์ (บัวร์)
วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550
พยาธิ ศัตรูร้าย ผู้ไม่เคยญาติดีกับแพะตัวใด
พยาธิ คือ ใคร
พยาธิ ๑ [พะยาทิ] น. ความเจ็บไข้ เช่น โรคาพยาธิ ชาติชราพยาธิ. (ป. พฺยาธิ, วฺยาธิ; ส. วฺยาธิ).
พยาธิ ๒ [พะยาด]. น. ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งอย่างน้อยในระยะหนึ่งของ ชีวิตจะเป็นปรสิตอยู่ในมนุษย์และสัตว์ ชนิดตัวแบน เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด ชนิดตัวกลมหรือหนอนพยาธิ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิ เส้นด้าย พยาธิแส้ม้า
ปรสิต, ปรสิต- [ปะระสิด, ปะระสิดตะ-] น. (แพทย์) สัตว์พวกพยาธิที่อาศัยอยู่ใน มนุษย์และสัตว์; (เกษตร) ตัวเบียน เช่น กาฝาก. (อ. parasite).
ข้างต้นนี้เป็นความหมายของคำว่า พยาธิ ตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัญฑิต
ดังนั้น พยาธิ จึงเป็นสิ่งมีชีวิตประเภท ปรสิต ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการแย่งและดูดซึมสารอาหาร และสืบพันธุ์ในร่างกายของคนและสัตว์ ที่มันอาศัยอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือนอกจะจะขออาศัยแล้วยังเบียดเบียนอาหารและทำร้ายผู้ที่ให้อาศัยอีกต่างหาก บางชนิดก็ก่อให้เกิดอาการทรุดโทรม อ่อนแอ หรือในรายที่รุนแรงก็ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา
พยาธินั้นสำคัญต่อแพะไฉน
พยาธิมีความสำคัญต่อการเลี้ยงแพะมากทีเดียว เพราะถ้าเราเลี้ยงแพะที่เป็นพยาธิมากๆ แต่รอดตายมาได้ ก็มีลักษณะแคระแกร็นเลี้ยงไม่โต สิ้นเปลื่องอาหาร กินเข้าไปเท่าไรพยาธิก็แย่งกินไปหมด และเสียเวลาเลี้ยงดูโดยเปล่าประโยชน์ การเลี้ยงแพะจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ได้กำไรหรือขาดทุน ปัญหาเรื่องพยาธิก็มีส่วนทำให้หลายๆ ท่านเลิกเลี้ยงแพะไปเลยก็มี เพราะไม่รู้จะรับมือกับพยาธิอย่างไร ไม่รู้ ดูไม่ออกว่า แพะเป็นพยาธิหรือไม่
จะรู้ได้อย่างไรว่าแพะเป็นพยาธิแล้ว
สำหรับมือใหม่แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คนนั้นว่าอย่างนั้น อีกคนว่าอย่างนี้ แถมตนเองก็ไม่เคยมีใครชี้แนะต่อหน้าแพะซักที จึงได้แต่ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ซึ่งหลายๆ ครั้ง และหลายๆ คน รู้สึกว่ามันแพงไปสำหรับการลงทุนทดลองวิชาแบบนี้ เพราะกว่าจะพอรู้บ้างว่าแพะเป็นพยาธิก็หมดแพะไปหลายตัว แล้วจะมีหลักการอย่างไรในการตรวจวินิจฉัยว่าแพะเป็นพยาธิ เรื่องนี้ตำราบอกว่ามีวิธีดังนี้
1. การตรวจวินิจฉัยเบี้องต้นด้วยตนเอง โดยใช้แผ่นตรวจซีด เพื่อพิสูจน์ทราบว่าแพะเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ โดยการเทียบดูตามเนื้อเยื่อบุตา เหงือก อวัยวะเพศ หรือทวาร ถ้าสีชมพูสดใสหรือออกส้มๆ ละก็นับว่าเป็นปกติดี ถ้าซีดขาว ละก็แสดงว่า จาง ถ้าแพะแสดงอาการว่าเป็นโรคโลหิตจางอย่างรุนแรง ให้สันนิฐานว่ามีพวกพยาธิดูดเลือดสิงอยู่มาก ถ้าอาการรุนแรงอาจมีอาการบวมน้ำที่ใต้คางให้ได้เห็น
แต่ที่เห็นได้เด่นชัด ก็พวกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซูบผอม ท้องเสีย อ่อนเพลีย ขนและผิวหนังหยาบกร้าน ในรายที่เป็นพยาธิตัวตืดก็จะพบปล้องของพยาธิมีสีขาวขาดหลุดปนออกมากับขี่แพะที่ถ่ายอกกมาใหม่ๆ
2. โดยการตรวจขี้แพะ เป็นขี้แพะที่ล้วงออกมาจากท้องแพะหรือขี้แพะที่ถ่ายอกกมาใหม่ๆ แล้วนำไปเข้าห้องปฎิบัติการ ส่องดูด้วยกล้องจุลทัศน์ เพื่อตรวจดูและนับไข่พยาธิ ต้องวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สะดวกนักสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะทั่วไป
3. โดยการผ่าซาก วิธีนี้ก็ให้เป็นวิธีของคุณหมอก็แล้วกัน
ดังนั้นวิธีที่ดี ก็คือการป้องกันและควบคุมพยาธิให้มีโอกาสระบาดได้น้อยที่สุด ด้วยการจัดการที่พยายามลดโอกาสของการติดพยาธิให้ได้มากที่สุด อนุญาตให้แพะติดพยาธิได้แค่พอหอมปากหอมคอ จะได้เป็นยาสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิให้กับแพะ
ภาพจาก Shepherd's Notebook
allnaturalcleanse.com
เขียนโดย Unknown ที่ 17:39 0 ความคิดเห็น
พยาธิตัวกลมในแพะ (Roundworm)
พยาธิตัวกลม ก็คือ พยาธิตัวกลมๆ มีขนาดแตกต่างกันมาก ทั้งเล็กและใหญ่ พยาธิพวกนี้ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในกระเพาะแท้ ลำใส้ใหญ่ ลำใส้เล็ก แต่ละชนิดอาศัยอยู่เฉพาะที่ พยาธิชนิดนี้จะคอยดูดเลือดและแย่งอาหารจากแพะ ทำให้แพะเป็นโรคโลหิตจาง ผอมอ่อนแอ ขนร่่วง อุจจาระร่วง และอาจตายได้ถ้าเป็นขั้นรุนแรง
พยาธิตัวกลมที่พบบ่อยและสำคัญ ได้แก่
1. พวกที่อาศัยอยู่ในกระเพาะ รูปร่างเหมือนสัญลักษณ์ร้านตัดผม ฝรั่ง(คน)เรียกมันว่าอีช่างตัดผม Barber's pole worm คนไทย (คุณหมอพรหล้า)เรียกมันว่าอีมังดุด หรือฮีมังคุด(Haemonchus contortus)เป็นพยาธิที่มีความสามารถในการทำลายล้างสูง ประสิทธิภาพในการระบาดเป็นเลิศ และทำให้แพะตายได้เป็นยอด
2. พวกที่อาศัยอยู่ในลำใส้ ได้แก่พยาธิปากขอ และพยาธิเม็ดตุ่ม พวกนี้จะดูดเลือดจากผนังลำใส้กิน เมื่อมันกินอิ่มแล้วก็ทิ้งร่องรอยแผลเอาไว้ให้เลือดไหลทิ้งไหลขว้าง ส่วนเจ้าพวกเม็ดตุ่มนอกจากเจาะกินเลือดแล้ว ยังเจาะฝังตัวอยู่ภายในผนังลำใส้ด้วย ทำให้แพะแสดงอาการท้องเสียอีกด้วย
การรักษา
หลังจากพิสูจน์ทราบแล้วว่าแพะเป็นโรคพยาธิตัวกลม ก็ต้องทำรักษาซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดแต่ก็ต้องทำ ได้แก่การถ่ายพยาธิ ซึ่งยาถ่ายพยาธิมีทั้งประเภท ฉีด และ กิน (กรอกปาก)
** เน้นย้ำ** โปรดอ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนใช้ยาทุกครั้ง (ในกรณีที่ต้องเป็นหมอจำเป็นต้องทำการเอง)ยาถ่ายพยาธิตัวกลมในท้องตลาดนั้นมีหลายตัว (ชื่อยา) หลายยี่ห้อ (ชื่อการค้า)หลายโรงงาน เช่น ไบเออร์ เมอร์ค เชร์ริง เมอร์เรียล ฟิชเซอร์ ฯลฯ
ยาถ่ายพยาธิตัวกลมที่มีขายปัจจุบันได้แก่
ไทอาเบนดาโซล (Thiabendazole)ตัวอย่างชื่อการค้าได้แก่ ไทเบนดาโซน
เลวามิโซล (Levamisole)ตัวอย่างชื่อการค้าได้แก่ คอนคูราท ซิตาริน แอล
เมเบนดาโซล (Mebendazole)ชื่อการค้าได้แก่ เทลมิน
อัลเบนดาโซล(Albendazole)ชื่อการค้า เช่น อัลเบน
เฟนเบนดาโซล(Fenbendazole)ชื่อการค้าได้แก่ พานาคูร์
ไอเวอร์เมกติน(Ivermectin)ชื่อการค้าเช่น ไอเวอร์เมก
ใครเป็นแฟนประจำของใคร ก็เลือกใช้กันเอาเอง แต่อย่าใช้ยาซ้ำขนานเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจทำให้พยาธิดื้อยา และเราต้องมาเสียค่าโง่ จ่ายค่ายาอยู่ได้โดยที่ยาไม่สามารถถ่ายพยาธิได้ แถมยังทำให้พยาธิได้ใจกันยกใหญ่
ภาพจาก BBC NEWS
FAO
เขียนโดย Unknown ที่ 12:43 3 ความคิดเห็น
วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550
พยาธิตัวตืดหรือตัวแบน (Tapeworm)
ลักษณะของพยาธิ ลำตัวเป็นปล้องๆ มีลักษณะแบนและยาวมองดูคล้ายบะหมี่ขดตัวไปมา บางตัวอาจยาวถึง 4-6 เมตร มีส่วนกว้างที่สุดประมาณ 1.2-1.6 เซนติเมตร สามารถงอกและแบ่งตัวเป็นปล้องใหม่ได้เรื่อยๆ เพื่อชดเชยปล้องตอนท้ายที่ต้องหลุดไป หรือบ่อยครั้งก็หลุดออกไปยาวเป็นไม้บรรทัดได้เหมือนกัน
อาศัยอยู่ในลำใส้เล็ก มักไม่ค่อยเป็นปัญหากับแพะโต แต่มักจะเป็นปัญหากับแพะที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะสามารถติดพยาธินี้ได้ง่ายและมักมีอาการรุนแรงกว่าแพะโต เช่น ผอมซูบ น้ำหนักลด การเจริญเติบโตหยุดชะงัก และมีภูมิต้านทานโรคน้อยลง ถ้าป็นมากอาจทำให้ลูกแพะตายได้
หลักปฎิบัติเกี่ยวกับการรักษาโรคพยาธิตัวตืด
เมื่อตรวจและวินิจฉัยพบว่า แพะ เป็นพยาธิตัวตืด ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ถ่ายพยาธิตัวตืดด้วยยาที่มีประสิทธิภาพทำลายสูงสุดและปลอดภัยต่อชีวิตโดยทันที
2. ก่อนถ่ายพยาธิตัวตืด ต้องงดให้อาหารอย่างน้อย 15 ชั่วโมง
3. ต้องขังแพะไว้ในคอกอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
4. กำจัดตัวไมท์ที่เป็นพาหะของพยาธิตัวตืด ตามหญ้า วัสดุรองพื้นคอก และโรงเรือน
5. ย้ายแพะจากแปลงหญ้าเดิมที่เป็นแหล่งพยาธิระบาดไปเลี้ยงที่แปลงอื่น
ยาถ่ายพยาธิตัวตืด
การรักษาจะใช้ยาถ่ายพยาธิตัวตืด ที่มีประสิทธิภาพทำลายพยาธิสูง ปัจจุบันมีจำหน่ายหลายตัว เช่น
นิโคลซาไมด์ (Niclosamide)ชื่อการค้า
โยเมซาน (Yomesan)เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)ราคาค่อนข้างแพงแต่ให้ผลดีและมีความปลอดภัย
แมนโซนิล (Mansonil)เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)
ดรอนชิต เป็นผลิตภัณฑ์ของไบเออร์ (Bayer)
นอกจากนี้ยังมีขายตามท้องตลาดอีกมาก หลายยี่ห้อ เชิญเลือกซื้อได้ตามสะดวก อย่าลืมว่าสุขภาพสัตว์ ก็คือสุขภาพกระเป๋าของเรา เอาดวงใจของเขา มาใส่ใจของเรา เขาจะทุกข์เพียงไหน เราก็เดือดร้อนเพียงนั้น อย่าลืม ทำตัวให้ว่าง หมั่นตรวจสอบขี้แพะดูว่ามีปล้องๆ หลุดปนออกมาขณะแพะขี้หรือเปล่า ขอให้โชคดีทุกๆ ท่านครับ
ภาพจาก Shepherd's Notebook
เขียนโดย Unknown ที่ 18:05 2 ความคิดเห็น
พฤติกรรมการสืบพันธุ์ของแพะ
แพะ เป็นสัตว์ที่มีวัยเป็นหนุ่มสาวไว แพะตัวเมียจะเริ่มเป็นสาวเมื่ออายุ 3-4 เดือน ตัวผู้ จะแตกเนื้อหนุ่มเมื่ออายุ 4-5 เดือน เมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ แพะตัวผู้จะดึงดูดความสนใจจากตัวเมียโดยการพยายามเบ่งปัสสาวะพ่นไปตามตัว
บริเวณเครา หน้าอก และหน้าท้อง เพื่อเป็นการส่งกลิ่นล่อตัวเมียให้เข้ามาใกล้ และก็มักได้ผลด้วยซิเพราะตัวเมียก็จะเข้ามาแสดงความสนิทสนมใกล้ๆ นอกจากนี้ต่อมกลิ่นบริเวณโคนเขาของตัวผู้ก็จะทำหน้าที่ปล่อยกลิ่นร่วมด้วยช่วยกันอีกแรง
เราในฐานะผู้รับผิดชอบเลี้ยงดู ไม่ควรปล่อยโอกาสให้แพะในวัยแรกรุ่นนี้มีโอกาสได้เสียกันในวัยนี้ เพราะจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพของแพะเป็นอย่างยิ่ง เช่น ร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโต ทำให้แคระแกร็น ร่างกายจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และอาจมีปัญหาการคลอดยากตามมาอีกด้วย
ถ้าหากท้องก่อนวัยอันสมควรแล้วก็จะทำให้ร่างกายต้องเสียโอกาสในการเจริญเติบโต เพราะอาหารที่กินเข้าไปแทนที่จะนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่กลับต้องแบ่งไปเลี้ยงบำรุงลูกในท้อง และสร้างน้ำนมเอาไว้เลี้ยงลูก
ดังนั้นผู้ปกครอง ควรแยกโรงเรียนผู้ และโรงเรียนเมีย เมื่อวัยอันควรแยก แล้วค่อยเปิดโอกาสให้พบกันเมื่อมีอายุประมาณ 10 เดือนไปแล้ว
เขียนโดย Unknown ที่ 10:12 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การสืบพันธุ์แพะ, พฤติกรรมของแพะ
วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550
พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
มีคนมาสะกิดบอกว่าช่วยขยายความให้มากกว่านี้หน่อย อ่านแล้วขี้เกียจตีความ และก็ไม่อยากไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม ไหนๆ ก็เข้ามาอ่านแล้ว ก็ให้มันจบและเข้าใจตรงนี้เลย
แป๋ว ว ว ว แสดงว่ามีคนว่าข้าน้อยพูดแล้วเข้าใจยากอีกคนแล้ว ก็ขอแก้ตัวหน่อยก็แล้วกันว่า อันที่จริงแล้วอยากจะเขียนยาวๆ แต่คิดเอาเองว่า คนไทยส่วนมากยังไม่ค่อยชอบอ่านอะไรที่มันมีเนื้อหายาวๆ ก็เลยพยายามจะสั้นเข้าไว้
พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็ขอขยายความต่อ โดยนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเดิมก็แล้วกันเพราะสั้นและเข้าใจง่ายซึ่งจัดทำโดย สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในหัวข้อ พฤติกรรมของสัตว์ที่เหมาะสมต่อการเป็นสัตว์เลี้ยง เนื้อหาไม่ขอเปลี่ยนแปลงและขอนำมาถ่ายทอดต่อทั้งดุ้นอีกเช่นเคย ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้
1. สามารถอาศัยรวมกันเป็นฝูง หรือกลุ่มสังคมได้ ทั้งนี้เพื่อประหยัดพื้นที่โรงเรือนและอุปกรณ์ในการเลี้ยงดู เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็ด ไก่ เป็นต้น
2. มีการจัดอันดับทางสังคม (Social order) และอันดับทางสังคมของสัตว์แต่ละตัวค่อนข้างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ การจัดอันดับทางสังคมในฝูงสัตว์ทำให้ลดการต่อสู้แก่งแย่งกันระหว่างสัตว์ในฝูง ถ้าท่านเป็นคนช่างสังเกต หรือชอบดูสารคดีก็จะพบว่า สัตว์จะมีจ่าฝูงอยู่หนึ่งตัวเสมอในแต่ละฝูง ทำให้ง่ายต่อการดูแลและไล่ต้อน เพราะเวลาไปไหนเขาก็จะยกฝูงไปกันเป็นขบวน
3. สามารถผสมพันธุ์กันได้โดยไม่เลือกคู่ผสม และตัวผู้สามารถผสมกับตัวเมียได้หลายตัว (Polygenous) เพื่อเป็นการประหยัดไม่ต้องเลี้ยงตัวผู้ไว้เป็นจำนวนมาก และเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจัดระบบการผสมพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์ อันนี้ชัดเจนว่า เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์โดยไม่มีที่สุด และขยายเผ่าพันธุ์รวดเร็ว
4. ตัวผู้มีลักษณะต่างๆ แตกต่างจากตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด มีขนาดใหญ่กว่า มีหงอนโต กว่า หรือมีอาวุธต่างๆ เช่น เขา งา หรือเดือย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวผู้มีอันดับทางสังคมสูงกว่าตัวเมีย อันเป็นผลเพื่ออำนวยต่อการผสมพันธุ์แบบคุมฝูง
5. ลูกสัตว์มีการพัฒนาการต่างๆ อย่างสมบูรณ์เมื่อคลอด (Precocial development at birth) ทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างรวดเร็วหลังคลอด เพื่อให้แม่สัตว์เป็นอิสระจากการเลี้ยงลูกได้เร็ว และพ่อสัตว์ไม่มีส่วนในการเลี้ยงลูก นอกจากนี้การที่ลูกสัตว์มีการพัฒนาการด้านต่างๆ ดี ทำให้มนุษย์สามารถเข้าจัดการดูแลแทนแม่สัตว์ได้ เช่น เมื่อคลอดออกมาต้องเดินได้โดยเร็ว ไปหานมแม่กินเองได้ หรือกินอาหารเองได้หลังคลอดในไม่ช้า
6. แม่สัตว์ยอมรับเลี้ยงลูกของตัวอื่นได้ง่าย พฤติกรรมนี้ทำให้การจัดการดูแลสัตว์สะดวกขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแม่สัตว์ตายหรือไม่มีนมให้ลูกกินหลังคลอด ทำให้เราสามารถฝากลูกเลี้ยงได้เมื่อมีเหตุจำเป็น เช่นแพะมีลูกแฝด 3 หรือแฝด 4 สามารถฝากแม่ลูกเดี่ยวเลี้ยงได้
7. เป็นสัตว์ประเภทกินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) หรือกินได้ทั้งพืชและเนื้อเป็นอาหาร (Omnivore) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้อาหารที่มนุษย์ไม่สามารถกินได้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และไม่เป็นการแย่งอาหารของมนุษย์ด้วย
8. มีความสมารถสูงในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมต่างๆ และระบบการเลี้ยงดูของมนุษย์ ข้อนี้ก็สำคัญไม่น้อย เพราะถ้าไม่สามารถปรับตัวได้ หรือปรับตัวไม่ทัน ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะถ้าเราเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของการทำธุรกิจยิ่งต้องคำนึงให้มากๆ
หวังว่าท่านที่อุตส่าห์ตามอ่านมาถึงตรงนี้คงพอจะเข้าใจบ้าง ถ้าไม่เข้าใจ หรือเข้าใจดีกว่านี้ ก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเข้ามาได้ครับ
เขียนโดย Unknown ที่ 11:26 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2550
เรียนรู้พฤติกรรมของแพะ
พฤติกรรม คืออะไร สำคัญไฉน ทำไมเราถึงต้องเรียนรู้ รู้แล้วได้อะไร เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เดี๋ยวเราลองไปหาคำตอบกัน
ตามหลักฐานอ้างอิงแบบไทยๆ ก็ต้องยึดตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ บันทึกไว้ว่า
พฤติกรรม น. การกระทําหรืออาการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ ความคิด และความรู้สึก เพื่อตอบสนองสิ่งเร้า.
เขียนสั้นๆ ได้ว่า พฤติกรรม คือ การกระทำเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า
แล้วอย่างไรเรียกว่าตอบสนอง และอย่างไรเรียกว่าสิ่งเร้า
สนอง [สะหฺนอง] ก. ทำตามที่ได้รับคำสั่งหรือคำขอร้องเป็นต้น เช่น สนองโครงการในพระราชดำริ สนองนโยบายของรัฐบาล; โต้ตอบ เช่นกรรมตามสนอง, ตอบรับการเสนอ เช่น เสนอขาย สนองซื้อ. (ข. สฺนง).
เร้า ก. กระตุ้นเตือน เช่น เร้าอารมณ์; ปลุกใจ เช่น พูดเร้าใจ. ว. ที่กระตุ้น
เตือน เช่น สิ่งเร้า.
หวังว่าท่านคงจะสับสนกันพอสับควรแล้วกระมัง กับการใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในรูปแบบของชาวบ้านๆ อย่างผม
เรามาว่ากันต่อในเรื่องการเรียนรู้พฤติกรรมของแพะกันต่อดีกว่า "การเรียนรู้พฤติกรรมของแพะอย่างถ่องแท้ จะเป็นแนวทางให้เราสามารถจัดการระบบต่างๆ ได้ถูกต้องตามความต้องการของแพะนั้นๆ เมื่อแพะมีอาการผิดปกติ เป็นสัญญาณบอกให้รู่ว่าแพะได้มีอาการป่วยไข้แล้ว จึงต้องดำเนินการป้องกันและรักษาโดยด่วน" (ปริศนา จิตต์ปรารพ,ต้นทุนและผลตอบแทนจากการเลี้ยงแพะนม ในฟาร์มขนาดใหญ่ กรณีศึกษา บริษัท สยามแผ่นดินทอง จำกัด) แล้วพฤติกรรมของแพะเลี้ยงจะเป็นอย่างไร
แพะ จัดเป็นสัตว์เลี้ยงชินดหนึ่ง ดังนั้นพฤติกรรมหลักๆ ของสัตว์เลี้ยงย่อมไม่ต่างกันมากนัก เช่น อาศัยรวมกันเป็นฝูงหรือกลุ่มสังคมได้ เพื่อประหยัดพื้นที่และอุปกรณ์การเลี้ยง มีการจัดอันดับทางสังคม ผสมพันธุ์ได้โดยไม่เลือกคู่ ตัวผู้มีลักษณะแตกต่างจากตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด ลูกสัตว์มีการพัฒนาดีเมื่อคลอด แม่สัตว์ยอมรับเลี้ยงลูกตัวอื่นได้ง่าย เป็นสัตว์กินพืชหรือกินทั้งพืชและเนื้อ และสุดท้ายมีความสามารถสูงในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม
"พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง (Ethlogy) เป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมถึงการแสดงอริยบทต่างๆ ของสัตว์มากมาย เช่น การหายใจ การกินอาหารและน้ำ การต่อสู้ การสืบพันธุ์ การให้น้ำนม เหล่านี้เป็นต้น" (น.สพ. ถวัลย์ วรรณกุล การเลี้ยงแพะและการป้องกันรักษาโรค)
แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กกินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะแพะชอบกินใบไม้ พุ่มไม้ จะปีนป่ายและกินใบไม้และเปลือกไม้อ่อน แพะชอบออกหาอาหารกินเองมากกว่า ชอบกินใบไม้มากกว่าหญ้า เลือกกินอาหารที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นดิน และไม่ชอบกินอาหารชนิดเดียวเป็นเวลานานๆ
นอกจากแพะจะปีนป่ายได้เก่งแล้ว ยังสามารถ มุด ลอด และกระโดดได้เก่งอีกด้วย แพะเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น แม้กระทั่งเรื่องการกิน มีอะไรให้กินก็ต้องขอลองกินดูก่อน กินได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง
"ปริมาณที่แพะกินได้ 3-6% ของน้ำหนักตัว
แพะเลือกกินไม้พุ่ม 72 % หญ้า 28%
แพะจะเดินหากินอาหารได้ไกลถึงวันละ 6-8 กิโลเมตร
แพะถ้าเลี้ยงแบบขังจะกินน้ำวันละ 0.68 ลิตร/ตัว
ถ้าเลี้ยงแบบปล่อยแพะจะกินน้ำวันละ 2 ลิตร/ตัว
ใช้เวลากินอาหาร 30% เคี้ยวเอื้อง 12%
เดินทางหาอาหาร 12% และพักผ่อน 46%"
(เอกชัย พฤกษ์อำไพ, คู่มือการเลี้ยงแพะ)
ทั้งหมดเป็นพฤติกรรมทั่วๆ ไปและพฤติกรรมการกินอาหารของแพะ หวังว่าท่านคงพอจะรู้จักแพะได้ดีขึ้นระดับหนึ่งแล้วกระมัง
ภาพจาก moment.ee
เขียนโดย Unknown ที่ 14:32 6 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พฤติกรรมของแพะ, พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2550
"แพะพื้นเมือง Thai Native Goat" Here I am !
วันนี้ขอจั่วหัวตามกระแสหน่อยก็แล้วกัน สำหรับท่านที่ดูข่าวทีวี หรืออ่านข่าวหนังสือพิมพ์คงจะเข้าใจว่าหมายถึงอะไร แต่สำหรับตรงนี้หมายถึง "แพะ" เท่านั้น ส่วนจะเป็นแพะของใคร แพะในประเทศหรือแพะต่างประเทศ และสีสันจะเป็นเช่นไร เดี๋ยวเรามาดูกัน
จั่วหัวเท่ ๆ ไปเช่นนั้นเอง อยากลองเกาะกระแสดูบ้าง ว่าจะโดนช็อตหรือเปล่า บางคนอ่านมาหลายตอนแล้วยังไม่รู้เลยว่า แพะพื้นบ้าน แพะพื้นเมืองนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร จะดูได้จากตรงไหนบ้าง คือหมายถึงลักษณะ รูปร่าง ไม่ใช่ให้ไปดูที่ภาคใต้อะไรทำนองนั้น
ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแพะอีกท่านหนึ่งของไทยท่านได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับแพะพื้นเมืองไทย (Thai Native Goat) อย่างจริงจังและสรุปไว้ว่า แพะพื้นเมืองที่เลี้ยงอยู่ในภาคใต้เป็นแพะเนื้อ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแพะพันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย และมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
สี มากกว่า 60% สีดำ น้ำตาล หรือน้ำตาลสลับดำ ที่เหลืออาจจะมีสีขาวหรือเหลืองปนบ้าง
เขา มีเขาทั้งเพศผู้และเพศเมีย
ติ่งใต้คอ ที่พบติ่งใต้คอประมาณ 6%
หู ใบหูตั้ง
สัดส่วน และ ส่วนสูง เพศเมียเมือโตเต็มวัยมีความสูงระดับไหล่ (วัดจากพื้นที่แพะยืนถึงปุ่มที่หลังตรงตำแหน่งขาหน้า)41-57 เซนติเมตร โดยเฉลี่ย 48.5 เซนติเมตร มีความยาวรอบอกเฉลี่ย 59.6 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ย 16.4 กิโลกรัม เพศผู้ความสูงระดับไหล่ 46-68 เซนติเมตร
หวังว่าท่านคงพอจะดูออกแล้วกระมังว่าแพะพื้นเมืองนั้นเป็นเช่นใด สำหรับผมแล้วเห็นว่าพลเมืองพื้นบ้านของเรามัก ตกเป็นแพะเสมอ
ขอขอบคุณภาพจากคู่มือเลี้ยงแพะ ของ กรมปศุสัตว์
เขียนโดย Unknown ที่ 15:49 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พันธุ์แพะ, แพะพื้นเมือง, ลักษณะประจำพันธุ์
วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550
FAMACHA© chart
FAMACHA© chart แผ่นตรวจเทียบสอบสุขภาพแพะด้วยตนเอง เป็นของฝรั่งเขา มีไว้สำหรับเทียบตรวจสอบสุขภาพแพะ ว่าเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ หรือว่าสุขภาพดีเยี่ยม (A)หรือว่าจะต้องตายอย่างแน่นอนในเร็ววัน (E)
หนึ่งในสาเหตุหลักของโรคโลหิตจาง ก็คงหนีไม่พ้น "พยาธิ" ดังนั้นเจ้าแผ่นอันนี้ก็ช่วยเราให้ทราบว่าสุขภาพแพะอยู่ระดับใดจะได้หาทางแก้ไขได้ทันเวลา และข้อมูลที่ได้มาส่วนมากสรุปได้ว่า แพะตายเพราะพยาธิมากกว่าตายจากโรคติดต่อ FAMACHA© chart แบบไทยๆ เราก็มีใช้เช่นกัน คุณหมอพรหล้าท่านทำแจกฟรี ๆ ๆ ๆ สำหรับใครที่เคยเข้ารับการให้ความรู้จากคุณหมอก็จะได้รับไปใช้คนละแผ่น ลองกลับไปอ่านดูเรื่อง แผ่นตรวจซีด อีกสักครั้งก็แล้วกัน
ภาพจาก Shepherd's Notebook
เขียนโดย Unknown ที่ 14:59 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: แผ่นตรวจซีด, สุขภาพแพะ