"OTOP" อ่านว่า "โอ ท๊อบ" ดีหรือว่า "โอ ท็อบ" ดีกว่า หรือจะอ่านว่า "โอ ตบ" ดีที่สุดล่ะ แต่คงไม่มีใครอ่านว่า "อด อบ" กระมังน่ะ
อ้อ... มีคนแซวมา ต้องอ่านว่า "๑ ที ๑ พี" สิถึงจะถูกต้องตามความหมายเดิม...อันนี้ ไม่ขอวิจารณ์ซ้ำก็แล้วกัน
หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือว่าหนึ่งจังหวัดมีผลิตภัณฑ์อยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ยังไม่อาจจะกล้าสรุปได้ เพราะว่างานนี้เขาจัดกันมาหลายปีแล้ว หนำซ้ำบางปีท่านดันเอาไปจัดอยู่ในสนามฟูตบอล ท่ามกลางแหล่งรถติด มลพิษสูงสุด ไปมาลำบาก ซื้อของแล้วขนกลับบ้านไม่ได้ คนขายขายก็ร้อนสุดๆ คนซื้อก็เบื่อเหลือทน ที่เล่ามาทั้งหมดล้วนจบไปแล้ว ฉนั้น โปรดอย่าได้นำมาเป็นนิยายให้เมื่อยตุ้ม
สรุปว่างาน OTOP เป็นงานที่ทางการจัดขึ้นเพื่อใช้งบประมาณแผ่นดินให้หมดไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการหมุนเงินจนเวียนหัวไปทุกแห่งทุกหนทุกตำบลกระสุนตก และสุดท้ายก็พอจะสร้างรายได้บ้างให้กับเกษตรกรและชาวรากหญ้า ผู้ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในทางการตลาดที่จะนำเสนอสินค้าและผลงานแห่งความสามารถของตนสู่สากลโลกหรือตลาดโลก และถ้ามีผู้ใดสงสัยว่าตลาดโลกอยู่ ณ ที่ใด นั่งรถเมล์สายไหนไป หรือรถไฟฟรีไปลงสถานีอะไร ขับรถไปเองได้หรือเปล่า อันนี้ขอยกยอดไปตอบกาละครั้งถัดไปก็แล้วกัน
งาน OTOP เป็นงานที่น่าสนใจมากสำหรับนักการตลาดหน้าใหม่ เป็นงานการตลาดที่ลงทุนไม่มากนักสำหรับเจ้าของผลิตภัณฑ์ ที่จะแนะนำสินค้าของตนให้ปรากฎแก่สายตาผู้คนจำนวนนับร้อย นับพัน นับหมื่น หรืออาจจะนับแสนคู่ก็เป็นได้ แล้วแต่การนำเสนอของเราว่าจะเรียกความสนใจจากผู้คนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการคนจะทำให้คนเป็นร้อย เป็นพันรู้จักสินค้าเราได้ก็ต้องลงทุนในการประชาสัมพันธ์พอสมควร เช่น การลงทุนพิมพ์แผ่นพับหรือใบปลิวไปแจกตามงานแพะต่างๆ หรือซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือต่างๆ เป็นต้น
กลับเข้าสู่โหมดแห่งการทัวร์อย่างเร่งรีบกันต่อดีกว่า ตอนนี้ขอนำพาท่านได้ยังภาคกลาง เริ่มจากจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ก่อนเพราะกรุงเทพฯ ตระเวนดูแล้วไม่ยักกะเจอแพะเลย แปลกมากๆ
เริ่มจากจังหวัดนนทบุรีก็แล้วกันเพราะถิ่นนี้มีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตะลอนๆ มาเรื่อยๆ พบเข้าจนได้ มีอยู่หนึ่งบู๊ต แวะเข้าไปหวังทักทายด้วยก็ไม่มีโอกาสเพราะเจ้าของบู๊ตติดคิวกับผู้อื่นที่ไปเก็บข้อมูลอยู่เช่นกันและดูท่าทางแล้วทำท่าจะยาวก็ขอเลยไปที่อื่นต่อก็แล้วกัน ถ้ามีเวลาเหลือแล้วจะกลับมาใหม่
วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552
OTOP การตลาดราคาประหยัด (2)
เขียนโดย Unknown ที่ 23:20 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การตลาด, ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะ, OTOP
วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552
OTOP การตลาดราคาประหยัด
การตลาด นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะอย่ายิ่งสำหรับหน้าใหม่หรือมือใหม่แล้ว ต้องครุ่นคิดอยู่หลายตลบเหมือนกัน
จะทำอะไรขายดี จะขายราคาเท่าไร ถึงจะโดนใจคนซื้อ และจะเอาสินค้าไปขายที่ไหน แล้วจะทำการส่งเสริมการขายอย่างไร ยิ่งถ้าในระดับรากหญ้าด้วยแล้ว โอกาสทางการตลาดยิ่งมีน้อยเป็นเงาตามตัวไปด้วย
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของงาน OTOP midyear 2009 ที่เมืองทองธานี และเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนเสียด้วย กว่าจะฟันฝ่าผ่านด่านการจราจรอันคับคั่งเข้าไปในงานได้ก็ใช้เวลาหมดไปมากโขเหมือนกัน โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีเวลาอันจำกัด
เดินผ่านประตูเข้าไปก็พบว่าบนเวทีใหญ่มีผู้คนเยอะแยะจึงแวะเข้าไปดูกับเขาบ้าง อ๋อ รมต. ท่านกำลังกล่าวปิดงานนะเอง ไม่ได้การแล้วซิ จังซี่ มันต้องถอน ว่าแล้วก็รีบจ้ำอ้าวเป็นการใหญ่ ก่อนที่จะเป็นการไปดูเขาเก็บร้านกัน เอายังไงดีล่ะทีนี้ เอาเป็นว่าเรามาสำรวจตรวจตราสินค้าที่เป็น ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะ เป็นหลักก็แล้วกัน
ภาคใต้
หลบฉากจากเวทีใหญ่ก็มุ่งไปสู่ภาคใต้อย่างรีบด่วน เพราะอย่างไรเสียก็ต้องมีผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะแน่นอน เพราะ มร.แพะ จาก สสว. เคยบอกไว้ว่า แพะภาคใต้มาร่วมด้วยทุกงานแน่นอน และแล้วก็แจวมาจอดที่ป้าย จ.ปัตตานี แต่เจ้าของบู๊ท (Boot)ไม่อยู่ จึงรีบเดินทางไปยังภาคอีสาน และภาคเหนือ ด้วยวิธีการสุ่มสำรวจว่าจังใดควรจะมีสินค้าจากน้ำนมแพะบ้าง แต่ก็ไม่พบ จึงวกกลับสู่กรุงเทพฯ หลังจากสำรวจร้านค้าต่างๆ จนเป็นที่พอใจแล้วก็แจวต่อ เป้าหมายคือ จ.ปัตตานี ที่เดิม และได้พบกับคุณเวโซะ ไม่แน่ใจว่าออกเสียง แวโซะ หรือ เวโซะ ฟังไม่ชัด จึงถามกลับไปว่า ชื่อนี้แปลว่าอะไรหรือครับ ก็ได้รับคำตอบว่า "เป็นชื่อของภรรยาพระนาบีอีกคนหนึ่ง" สำหรับงานนี้ได้ขนสินค้ามามากพอสมควร มีทั้งสบู่สูตรต่างๆ และโลชั่น บางรายการไม่มีเหลือของให้ขนกลับ ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน "OTOP" ทุกครั้ง
การตลาด ในปัจจุบันมีทั้งการออกร้านค้าตามงานต่างๆ และขายส่งทางพัสดุภัณฑ์ไปรษณีย์ ถ้าสั่งซีอครั้งละมากๆ ก็จะได้รับส่วนลดที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
เขียนโดย Unknown ที่ 21:34 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การตลาด, ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะ, OTOP
วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550
การเลี้ยงแพะ "ง่าย "จริงหรือ ?
"แพะเลี้ยงง่ายจะตาย" หรือ "แพะเลี้ยงง่ายนิดเดียว" หรือ "เลี้ยงแพะไปเถอะไม่มีอะไรหรอก" กว่าจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำพูดเหล่านี้ ก็ได้ตัดสินใจเลิกกิจการไปแล้ว จึงได้เข้าใจคำว่า "เลี้ยงแพะไปเถอะไม่มีอะไรจริงๆ"
หรือบางท่านก็เกือบจะเลิกกิจการไปแล้ว เพราะได้ประกาศขายแพะยกฟาร์มไปแล้ว แต่เผอิญไม่มีผู้ซื้อ จำต้องกัดฟันสู้ต่อ จึงอยู่ได้ตราบเท่าวันนี้
"แพะเลี้ยงง่ายจะตาย" เป็นสำนวนของเจ้าของไร่คุณสุข & คุณสุขฟาร์ม เมื่อครั้งเตรียมการจัดชุมทางแพะสัญจรครั้งที่ 3 ทำให้ได้เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วหมายความว่าอะไรหรือท่าน เจ้าของไร่ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "ก็หมายความตามนั้น" แล้วก็หัวเราะ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเข้าใจว่าอย่างไร ส่วนผมเข้าใจว่า "เลี้ยงแพะง่าย = จะตาย"
แล้วก็ทำให้ย้อนนึกถึงคำพูดของลุงซ้ง จ.นครปฐม เมื่อครั้งได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มว่า "ผมเลี้ยงแพะเหมือนลูกเหมือนหลาน ทั้งห่มผ้า ทั้งป้อนนม ยิ่งถ้าเป็นแฝดสามละก้อ ไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอนกันเลย" แสดงว่าต้องรักและเอาใจใส่แพะจริงๆ
ก่อนตัดสินใจเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ควรศึกษาข้อมูลเรื่องแพะ ให้เพียงพอก่อน ศึกษาให้รู้ก่อนเลี้ยงเปรียบกับการเตรียมตัวแต่งงานได้เลย ต้องรู้เขารู้เรา รู้ว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไร และจะรับมือกับเขาอย่างไร ส่วนรู้เรา ต้องรู้ว่าเราชอบเลี้ยงสัตว์จริงหรือเปล่า หรือว่าเห็นว่าน่ารักจึงเลี้ยงพอเบื่อก็ปล่อยทิ้ง เรารู้ทันแพะหรือไม่ เรารู้ทันโรคแพะหรือเปล่า เตรียมหาวิธีรับมือกับปัญหาต่างๆ ไว้แล้วหรือยัง แล้วปัญหาคืออะไร? หลายท่านอาจจะพบและตอบได้แตกต่างกันไปเช่นตัวอย่างที่ได้มาจาก ดร.วีรพล สุวรรณนันต์
ท่านที่1 "ปัญหา คืออุปสรรค"
ท่านที่2 "ปัญหา คือข้อขัดข้อง"
ท่านที่3 "ปัญหา คือข้อที่จะต้องแก้ไข"
ท่านที่4 "ปัญหา คือสิ่งที่แก้ไขไม่ได้"
ท่านที่5 "ปัญหา คือคำถาม"
ท่านที่6 "ปัญหา คือส่งที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร"
ท่านที่7 "ปัญหา คือสิ่งที่ไม่รู้คำตอบ"
ท่านที่8 "ปัญหา คือสิ่งที่เราไม่รู้"
ท่านที่9 "ปัญหา คือสิ่งที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวัง"
และอื่นๆ อีกมากมาย จะเห็นว่า แค่คำว่า ปัญหา ยังจำกัดความได้แตกต่างกันไป แล้วจะแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีอย่างไร
ปัญหาที่มือใหม่พบเสมอๆ ได้แก่การคัดเลือกซื้อแพะมาเลี้ยง คือมีปัญหาตั้งแต่เริ่มเลยว่างั้นเถอะ ขอแนะนำว่า อย่าได้ซื้อแพะที่เจ้าของเดิมคัดทิ้งมาเลี้ยง เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี จะทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังและท้อถอย และหลายๆ ท่านได้ถอดใจมาแล้ว เพราะแก้ปัญหาไม่ตก
การเลี้ยงแพะสำหรับมือใหม่ คือการทำข้อสอบภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ทำแบบฝึกหัดมาก่อน หรือทำการบ้านมาไม่ดีพอ ท่านจะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยาก และสับสนไปหมดเมื่อพบปัญหาหรือข้อสอบ ไม่รู้ข้อไดถูก ข้อไดผิด ถูกทุกข้อ หรือผิดหมดทุกข้อ เช่น เมือพบว่าแพะเจ็บป่วย ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือแพะอย่างไร ลำพังเรื่องพื้นๆ ยังเป็นปัญหา แล้วเรื่องหมอ เรื่องยา ไม่ต้องพูดถึง ก็ได้แต่ถามคนอื่นๆ เป็นเรื่อยไป คนที่1 วินิจฉัยว่าอย่างนี้ คนที่2 วินิจฉัยว่าอย่างนั้น ถาม 3 คนตอบ 3 อย่าง ให้ใช้ยา 3 ตัว แล้วผู้เลี้ยงมือใหม่จะทำอย่างไร ได้แต่งง และมั่วทั่วไป เดาเอาว่า น่าจะเป็น น่าจะใช่ และสุดท้ายกลายเป็นแพะตุ๋น
ที่กล่าวมาไม่ได้ยอมรับว่ามันน่ากลัว เพียงแนะนำว่า ควรศึกษาให้รู้ก่อนเลี้ยง เช่น รู้ว่าแพะที่เราซื้อมาเลี้ยง เจ้าของเดิมได้เลี้ยงอย่างไร เลี้ยงแพะแบบไฮโซ หรือว่าเลี้ยงแพะแบบพอเพียง การกินอยู่เป็นอย่างไร เมื่อมาอยู่กินกับเราก็ควรให้เป็นเช่นเดิมไปก่อน ถ้าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็ให้ค่อยเป็นค่อยไป อย่างหักด้ามพร้าด้วยเข่า จะได้ไม่คุ้มเสีย
ถ้าท่านดูแลแพะอย่างเอาใจใส่และใกล้ชิด ว่างๆ ลองตั้งโจทย์ปัญหาถามตอบเล่นๆ เชื่อว่าเมื่อพบปัญหาเกิดขึ้นจริง ย่อมแก้ไข ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
"ยา ไม่ใช่ ขนม"
ผู้เลี้ยงบางท่านเป็นห่วงสุขภาพแพะมาก พอได้แพะมาเข้าฟาร์ม ก็จัดการปูพรมระดมฉีดยาขนานใหญ่ ทั้งฉีดวัคซีน ฉีดบำรุง ฉีดถ่ายพยาธิ และได้ผลทันตาเห็น "ตาย" แต่ไม่ใช่พยาธิ กลับกลายเป็น "แพะ" เพราะแพะแพ้ฤทธิ์ยา เรียกว่า ยาแผลงฤทธิ์
ยา ไม่ใช่สิ่งวิเศษเจ็ดอย่างที่ใครต่างหวัง แต่ยาคือวัตถุ หรือสารมีฤทธิ์และสามารถออกฤทธิ์ได้
ยา มีอิทธิฤทธิในตัว มีกระบวนการออกฤทธิ์ เมื่อยาออกฤทธิ์ ย่อมมีผลกระทบต่อส่วนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ
ยา เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ย่อมมีกระบวนการขับออกจากร่างกายเช่นกัน ถ้าขับไม่ออกเรียกว่าสารตกค้าง
*** ยา ใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น ***
ยา ไม่ใช่ขนมผสมน้ำยา ฉะนั้นการใช้ยาควรเป็นหน้าที่ของหมอหรือสัตวแพทย์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ หาไม่แล้วถ้ายาแผลงฤทธ์ ย่อมเกิดการสูญเสียมากกว่าคุณประโยชน์ แล้วจะพาลโทษว่า "ยาไม่เป็นยาเลย"
เขียนโดย Unknown ที่ 11:44 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, การเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์
วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550
หรือว่า "เลี้ยงแพะ" จะดีจริง
นิตยสารโลกปศุสัตว์ ได้รายงานราคาปศุสัตว์ เอาไว้น่าสนใจทีเดียว หนึ่งในนั้นก็คือ "แพะ" ความต้องการยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของแพะเนื้อและแพะนม แต่ปัจจุบันปริมาณแพะที่ผลิตได้ในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้การบริโถคจะอยู่ในเฉพาะกลุ่มมุสลิม ซึ่งความต้องการใช้เนื้อแพะคนละไม่ต่ำกว่า 15 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพื่อการบริโภคและใช้ในพิธีกรรม ซึ่งประชากรมุสลิมมีอยู่ประมาณ 5% ของประชากรทั้งประเทศ
การผลิตที่ไม่พอเพียงส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านสายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่แพะที่เลี้ยงเป็นพันธุพื้นเมือง ที่การเจริญเติบโตหรือให้เนื้อค่อนข้างต่ำ แต่การจัดการค่อนข้างง่าย ปัจจุบันได้มีการนำเข้าสายพันธุ์จากต่างประเทศ เข้ามาปรับปรุงสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งได้รับความสนใจจากคนเลี้ยงเป็นอย่างดี
สำหรับราคาแพะเป็นอยู่ที่ 60-65 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเขียงจำหน่ายกิโลกรัมละ 80-120 บาท ส่วนราคาจำหน่ายพันธุ์ในประเทศ แพะพื้นเมือง อายุ 3 เดือนขึ้นไป ตัวละ 2,000-5,000 บาท
แล้วปริมาณแพะจำนวนเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อความต้องการ คำถามนี้ขอตอบแบบอธิบายย่อๆ ดังต่อไปนี้
ถ้าประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านคน จำนวนประชากรมุสลิม 5% เท่ากับ 3 ล้านคน ถ้ามุสลิม 1 คนมีความต้องการใช้เนื้อแพะประมาณ 15 กิโลกรัมต่อปี ประชากร 3 ล้านคนต้องใช้เนื้อแพะถึง 45 ล้านกิโลกรัมต่อปี
แล้วแพะจำนวน 45 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นตัวได้กี่ตัว ข้อนี้ ตอบอธิบายสั้นๆ ว่าถ้าแพะหนึ่งตัวเนื้อน้ำหนักเฉลี่ย
20 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 2 ล้าน 2 แสน 5 หมื่นตัว (2,250,000)
30 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 1 ล้าน 5 แสนตัว (1,500,000)
40 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 1 ล้าน 1 แสน 2 หมื่น 5 พันตัว (1,125,000)
50 กิโลกรัม ต้องใช้แพะจำนวน 9 แสนตัว (900,000)
จากรายงานของกรมปศุสัตว์ ปี 2549 ประเทศไทยสามารถผลิตแพะรวมได้ประมาณ 3 แสนตัว นับว่ายังขาดแพะเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะแพะที่สามารถทำการค้าขายได้ประมาณ 10-30% ของจำนวนแพะที่เกษตรกรเลี้ยง ที่เหลือเก็บไว้เป็นแพะต้นทุนบ้าง แพะท้อง แพะแรกคลอดหรือแพะยังไม่หย่านม และยังมีแพะจำนวนหนึ่งถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จึงเป็นการดูดแพะออกไปจากตลาดภายในประเทศด้วย
มาเลี้ยงแพะกันดีกว่า
ชุมทางแพะ ขอสนับสนุนให้เกษตรกรไทย หันมาสนใจทำอาชีพการเลี้ยงแพะ อาจเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงเพื่อเสริมอาชีพที่มีอยู่เดิม ไว้เป็นตัวเลือกในการปรับพัฒนาอาชีพในอนาคต เพราะอะไรหรือถึงกล้ากล่าวเช่นนี้ ลองมาดูเหตุผลข้อเด่นข้อด้อยเพื่อเปรียบเทียบดูดังต่อไปนี้
ข้อเด่นที่เห็นมีดังนี้
1. ผู้เลี้ยงส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อย ใช้แรงงานในครัวเรือน และใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเป็นอาหารแพะ ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ เช่น ปลูกข้าวโพดหักฝักขาย แล้วใช้ต้นและใบเป็นอาหารแพะ
2. ในหลายท้องที่มีวัตถุดิบอาหารแพะราคาถูกและเพียงพอสำหรับการเลี้ยง
3. การผลิตยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงไม่มีปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาด
4. พ่อพันธุ์แม่พันธุ์คุณภาพดียังขาดแคลนและราคาสูง
แล้วข้อที่ไม่เด่นมีอะไรบ้าง จะได้ปรับปรุง และแก้ไขต่อไป
1. ผู้เลี้ยงเป็นเกษตรกรรายย่อย ขาดการรวมกลุ่ม ทำให้ยากต่อการควบคุมปริมาณและคุณภาพการผลิต ชุมทางแพะ สนับสนุนการรวมกลุ่มกันมาตลอด
2. ยังไม่ปลอดโรค นับว่าเป็นปัญหาที่ทำร้ายเกษตรกรตลอดมาและก็คงตลอดไปอีกนาน
3. การใช้พื้นที่ของเกษตรกรยังไม่เหมาะสม ทำให้พืชอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ บางคนมีพื้นที่เพียงไม่กี่ไร่แต่อยากเลี้ยงแพะเป็นร้อยๆ ตัว พอหน้าเลี้ยงแพะผอมบักโกรกเพราะกินไม่อิ่ม ก็โดนหลอกซื้อว่าแพะเป็นพยาธิ อมโรค ผอมกะหร่อง กะแหร่ง
4. ต้องสร้างโรงเรือนให้แพะได้นอนที่สูง ทำให้มีต้นทุนสูงไปด้วย ผลตอบแทนต้องใช้เวลานาน และขาดแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
5. ขาดแคลนพันธุ์แพะคุณภาพดีและมีราคาสูง
6. การซื้อขายแพะยังไม่มีมาตรฐานทั้งในด้านคุณภาพและราคา
7. ขาดการประชาสัมพันธ์ การสร้างค่านิยมในการบริโภคทั้งนมแพะและเนื้อแพะ ยังมีความคิดอคติว่ามีกลิ่นสาป
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ดูแล้วในอนาคต การเลี้ยงแพะจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะเป็นการเลี้ยงแพะเพื่อการค้า หรือการเลี้ยงแพะเชิงธุรกิจ หรือการเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ แล้วแต่ใครจะเรียก แต่ชาวบ้านเรียกว่า การเลี้ยงแพะไว้ขาย
เขียนโดย Unknown ที่ 12:00 0 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, การเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์
วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550
เราพร้อมที่จะเลี้ยง "แพะ" แล้วหรือยัง ?
มีทำเล มีที่ มีทาง มีใจ ถ้าใครมีคำตอบครบตามนี้ย่อมพร้อมที่จะทำการเลี้ยงแพะได้แล้ว หลายๆ ท่านอาจจะแย้งว่า มันง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ
ยังดอกครับท่าน อย่าเพิ่งเชื่อ "เพราะการลงทุน ย่อมมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญาณ ก่อนตัดสินใจ"
การเลี้ยงแพะ ที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ "การเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์"หรือ "การเลี้ยงแพะเพื่อการค้า"ดังนั้นจึงเป็นการเลี้ยงแพะเพื่อที่จะขายแพะออกไปในวันข้างหน้า
ไม่ใช่เป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภคในครัวเรือน หรือเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำก็คือ การทำฟาร์มแพะ และแน่นอนย่อมต้องมีการลงทุนแน่ๆ
ฉะนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน เราต้องสำรวจความพร้อมของเราดูก่อนว่า ตั้งอยู่บนความเสี่ยง หรือเปล่า เสี่ยงมาก เสียงน้อย หรือว่า สบาย สบาย และความพร้อมสำหรับการเลี้ยงแพะเพื่อการค้านั้นมีอะไรบ้างที่ควรจะทราบ เรามาลองสำรวจกันดีกว่า
จากข้อความข้างต้น มีทำเล มีที่ มีทาง มีใจ ย่อมมีชัยในการเลี้ยงแพะจริงหรือ ขอเริ่มต้นนำท่านไปสำรวจทำเลกันก่อนก็แล้วกัน
"ทำเล" คือสถานที่สำหรับจะทำการเลี้ยงแพะ ควรเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสัตว์หรือแพะ ถ้าท่านตอบว่า เยี่ยมเลย ทำเลดีมากครับ ไปมาสะดวก มีทุ่งหญ้า บริเวณโล่งกว้าง มีภูเขา สุมทุมพุ่มไม้เขียวขจี ต้นไม้เล็ก ต้นไม้ใหญ่ มีเต็มไปหมด มีห้วย คลอง หนองน้ำ ตลอดปีไม่มีหมด ถ้าได้ทำเลแบบนี้คำตอบคือทำเลของท่านพร้อมมากๆ ทีเดียวเชียว
แล้วถ้าไม่ได้อย่างที่กล่าวแล้วจะเลี้ยงแพะไม่ได้เลยหรือ คำตอบคือสามารถเลี้ยงแพะได้ แต่สิ่งเหล่านั้นคือแหล่งอาหารแพะตามธรรมชาติ เป็นการลดต้นทุนในด้านการจัดการอาหารแพะ อีกวิธีหนึ่ง แต่เราสามารถสร้างแหล่งอาหารขึ้นมาเองตามรูปแบบธรรมชาติได้ ดังนั้นถ้าท่านมีแหล่งอาหารก็ถือว่าพร้อมเช่นกัน
"มีที่" คือ ที่อยู่ ที่มา และที่ไป ที่อยู่ก็คือบ้านของแพะ หรือที่เรามักเรียกกันว่าโรงเรือนแพะ ซึ่งก็คือที่ตั้งฟาร์มแพะของเราในอนาคตนั่นแหละ ถ้าท่านตอบว่า ไม่ต้องห่วงหรอก มีที่เหลือเฟือ เลี้ยงแพะได้เป็นร้อยๆ ด้านหลังติดภูเขา ด้านหน้าติดลำคลอง ด้านข้างเป็นที่ว่างเปล่า มีต้นกระถินขึ้นเต็มไปหมด พูดง่ายๆ คือ เรามีสินค้าคุณภาพดีที่พร้อมจะขาย
ที่มาและที่ไป ก็คือการวางแผนฟาร์มแพะในอนคตหลังจากการตัดสินใจที่จะเลี้ยงแพะแล้ว
ที่มา คือแพะที่เราจะนำมาเลี้ยง มาจากไหน ประวัติเป็นมาอย่างไร ดี หรือไม่ดี แค่ไหน พูดง่ายๆ ก็คือ การหาสินค้าดีๆ เข้ามาไว้ขายในอนาคต
ที่ไป คือตลาด หลังจากที่ตัดสินใจทำฟาร์มแพะแล้ว ไปขายที่ไหน ราคาเท่าไร ใครซื้อ พูดง่ายๆ คือ ตลาดดีๆ ที่สินค้าดีๆ ของเราจะไปขายได้ราคาดี
ที่มาที่ไป คือเรารู้จักแพะดีพอแล้วหรือ ถ้าท่านตอบได้ว่า
แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก กระเพาะสี่ มีเขากลวง มีเท้าเป็นกีบ ตั้งท้องประมาณ 150 หากินเก่ง ชอบกินใบไม้มากกว่าหญ้า ชอบนอนที่สูง มีโรคที่สำคัญคือแท้งติดต่อ ปากเท้าเปื่อยและพยาธิ ถ้าท่านพูดได้ขึ้นใจขนาดนี้แสดงว่าท่านได้ค้นหาข้อมูลมาพอสมควรแล้ว ย่อมตัดสินใจได้ว่า จะซื้อแพะอย่างไร ขายแพะอย่างไร และสร้างโรงเรือนแพะอย่างไร อย่าลืมว่าโรงเรือนไม่ใช่สิ่งอวดอ้างความสำเร็จ ควรลงทุนตามความเหมาะสม
มีทาง แน่นอนเราคงต้องการทางที่เป็นได้มากที่สุด เราคงไม่ต้องการทางอื่น มีอะไรบ้างที่พอจะสำรวจความพร้อมเรื่องทางนี้ เอาหลักๆ ก็แล้วกัน
การจัดการฟาร์ม นับว่าเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจได้เลย เพราะฟาร์มแพะของเรา ก็คือธุรกิจของเรา บางคนเก็บเงินสะสมมาทั้งชีวิตนำมาลงทุน แต่บางคนเพียงแบ่งเงินเดือนมาไม่กี่เดือนก็ทำฟาร์มแพะได้แล้ว แสดงว่ากลุ่มนี้เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมีรายได้ประจำอยู่แล้ว แต่อยากมีรายได้เพิ่มด้วยการทำธุรกิจฟาร์มแพะ หรือบางท่านวางแผนเพื่อเปลี่ยนแนวทางชีวิตในอนาคต
แล้วเราต้องจัดการเรื่องใดเป็นที่สำคัญก่อนหลัง ข้อนี้ตอบได้ยากพอสมควร เพราะคำตอบสำเร็จรูปไม่มีขาย แต่ละคนมีความสามารถได้แตกต่างกัน ขอกล่าวโดยทั่วๆ ไปก็แล้วกัน คือการจัดการบุคลากร กับการบริหารเวลา
บุคลากรของฟาร์มมีใครบ้าง ตัวเรา เป็นลูกจ้างของฟาร์มเรา หรือมี คนงาน เป็นลูกจ้าง ใครรับผิดชอบดูแลส่วนไหน เช่น การติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ การเลี้ยงดู การดูแลสุขภาพแพะ หรือว่า คนงาน รับผิดชอบทั้งหมด
การบริหารเวลา ก็สำคัญ เพราะทุกคนมีเวลาวันละเท่าๆ กัน ในแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวัน ใครรับผิดชอบส่วนไหนของฟาร์ม ในหนึ่งวันเรามีเวลาเข้าไปจัดการฟาร์มหรือเปล่า หรือยกให้ คนงาน บริหารทั้งหมด
โปรดจำไว้ว่า หลายๆ ฟาร์มต้องเลิกกิจการไป เพราะมอบหมายให้ คนงาน เป็นผู้จัดการทั้งหมด เดี๋ยวขอขึ้นเงินเดือน ถ้าไม่ขึ้นให้เดี๋ยวขอลาออก ถ้าไม่ให้ลาออก เดี๋ยวก็ได้รับรายงานว่าแพะตาย ไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะสาเหตุใด บางฟาร์มเปลี่ยนคนงาน เป็นประจำ สุดท้ายเลิกกิจการ
เงินของเรา หยาดเหงื่อของเรา ทุกบาททุกสตางค์ล้วนทำงานแลกมา จงระมัดระวังในเรื่องการจัดการ แล้วจะหาคำตอบได้ไม่ยากว่าพร้อมหรือยัง
มีใจ จะเอากี่ใจดีละครับ หนึ่งใจ สองใจ หรือว่าสามใจ เอาทีละใจก็แล้วกัน
ใจรัก เราเป็นคนรักสัตว์หรือเปล่า โดยเฉพาะแพะ ซน และสามารถทำความเสียหายให้กับพืชผัก ของเราเองและของเพื่อนบ้านได้ ถ้าป้องกันไม่ดีพอ เป็นห่วงแพะแค่ไหน ถ้าไม่ได้เข้าฟาร์ม ลองคิดหาคำตอบดู
เอาใจใส่ ไม่ใช่แค่รักแพะ ชอบแพะ แล้วจะไปรอด อย่าลืม เอาดวงใจของเขามาใส่ใจของเรา เขาจะทุกข์จะสุขอย่างไร ก็เงินในกระเป๋าของเรา แพะเจ็บได้ ป่วยได้ และก็ตายได้ แต่พูดไม่ได้ แล้วใครจะช่วยแพะได้ โปรดทบทวนอีกครั้ง
ใจถึง คงไม่ต้องอธิบายมาก ต้องยอมรับได้ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ต้องพร้อมที่จะสู้ถ้าไม่เป็นไปตามแผนการที่เราได้วางไว้ พร้อมที่จะหาจุดบกพร่อง แล้วเริ่มการแก้ไข แน่นอนว่าถ้าเลี้ยงแพะแล้ว อย่างน้อยก็ใช้เวลาเป็นปี กว่าจะมีลูกมีหลานให้ได้ขาย แล้วระหว่างที่เลี้ยงอยูล่ะ เรากินอะไร มีคำตอบพร้อมแล้วหรือยัง
ถ้าพร้อมแล้วลุย
เขียนโดย Unknown ที่ 15:59 3 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: การเลี้ยงแพะ, การเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์
วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550
พฤติกรรมการคลอดของแพะ
ผมเลี้ยงแพะโดยการปล่อยเลี้ยงแบบไล่ต้อนตามที่สาธารณะ และปล่อยให้แพะผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติแบบตัวผู้คุมฝูง แล้วจะรู้ได้อย่างไรครับ ว่าแพะท้องแก่และใกล้จะคลอดแล้ว
ข้อนี้ไม่เป็นปัญหาครับ ถ้าจำวันผสมไม่ได้ หรือไม่รู้อะไรเลย รู้แต่ว่าแพะมันท้องแล้ว ก็ให้ใช้วิธีสังเกตอาการภายนอกก็แล้วกัน เพราะปกติแล้วแพะจะท้องนานประมาณ 150 วันบวกลบแต่ไม่ควรเกิน 5 วัน เพราะถ้าผิดไปจากนี้แล้วแสดงว่าเป็นอาการที่ผิดปกติ ต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์โดยด่วน
ขวนการคลอดของแพะ
เรามาดูอาการกันดีกว่าว่าแม่แพะจะมีอาการอะไรบ้างให้เป็นที่สังเกต ตามตำราการเลี้ยงแพะ ของอาจารย์สมเกียรติ สุวรรณสมุทร เขียนไว้ว่า วันที่ใกล้คลอดเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น จนถึงระยะ 1-2 วันกล่อนคลอดเต้านมจะเต่งตึงมาก และมีน้ำนมคั่งหรือไหลออกมา ท้องหรือสีข้างจะยุบตัวลง อวัยวะเพศบวมแดง และมีน้ำเมือกไหลออกมา
แม่แพะจะมีอาการหงุดหวิด กระวนกระวาย เดินวนไปวนมา ผุดลุกผุดนั่งหรือส่งเสียงร้อง ใช้ขาตะกุยที่นอนไปรอบๆ หรือใช้จมูกดมตามพื้น แม่แพะจะทำท่าเบ่งท้องหลายครั้ง น้ำเมือกที่อวัยวะเพศจะข้นมากขึ้น และขาวในที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าแม่แพะจะคลอดลูกภายใน 1-2 ชั่วโมงข้างหน้า
การคลอด แม่แพะจะยืนคลอด โดยมีถุงน้ำคร่ำออกมาก่อน เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกก็จะเห็นลูกแพะโผล่ออกมาตามแรงเบ่ง ตามด้วยจมูก หัว และลำตัวในที่สุด เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วแม่แพะก็จะเลียตามตัวลูกจนสะอาด โดยเริ่มเลียที่จมูกลูกเพื่อจะได้รับอากาศทำให้หายใจสะดวก ต่อจากนั้นลูกแพะจะพยายามทรงตัวลุกขึ้นยืน และลูกแพะจะหาเต้านม เมื่อพบแล้วจะเริ่มดูดนม กระดิกหางอย่างมีความสุข แสดงว่าแม่มีน้ำนมไหลให้ลูกได้ดูดกินแล้ว และแม่ก็จะยืนเลียตัวลูกแพะจนกว่าเนื้อตัวจะแห้ง
ทำไมแพะชอบคลอดตอนกลางคืน
เรื่องนี้คุณหมอฟาร์มดี (Vetfarmde)บอกว่า "เป็นเพราะสัญชาตญาณความปลอดภัยค่ะ แต่ก่อนเขาอยู่ในป่าต้องหลบหลีกผู้ล่าให้ดีจึงต้องอาศัยสถานะการณ์ที่เงีบย สงบ และให้ความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งก็คือเวลากลางคืนนั่นเอง แต่เมื่อเขามาอยู่กับเราเขาก็ยังคงมีสัญชาตญาณความปลอดภัยอยู่
ฉนั้นเราจึงควรมีคอกคลอดให้เขาได้รู้สึกปลอดภัย และไม่ถูกรบกวนจากแพะตัวอื่นๆ ที่สำคัญคอกคลอดนั้นยังลดปัญหาการติดเชื้อ การดูแลก็ง่ายขึ้นสำหรับเรื่องควบคุมอุณหภูมิ ด้วยค่ะ" สรุปว่าห้ามรบกวนกระบวนการคลอดของแพะจะดีกว่า ดูอยู่ห่างๆ ก็พอเผื่อมีอะไร จะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงทีครับ
ขอขอบคุณภาพจาก Growning Small Farms
เขียนโดย Unknown ที่ 15:36 2 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: พฤติกรรมการคลอดของแพะ, พฤติกรรมของแพะ
วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550
เพราะรัก จำต้อง "ฆ่า"
วันนี้มีโอกาสได้ร่วมวงกินข้าวกับสาวๆ ในออฟฟิช ทั้งสาวเหลือน้อยและสาวไม่มาก ไม่รู้เป็นอะไรกัน นั่งเม้าท์กันในวงข้าว เรื่องราว ของ "นวลฉวี" และที่เพิ่งปิดคดีไปเมื่อไม่นานนี้ และอื่นๆ อีก 2-3 เรื่องที่เป็นตำนาน "หมอฆ่าเมีย" แล้วทำไมต้องฆ่า ฆ่าแล้วทำไมต้องหั่น หรือทำไมต้องชำแหละ ทำไม ทำไม เขาเป็นอะไร ????
โรคแพะ ปัญหาสาธารณสุข และปัญหาเศรษฐกิจ
และวันนี้ทำให้นึกถีงเรื่องราวของสมาชิกชุมทางแพะท่านหนึ่ง ที่อยู่ร่วมชะตาเดียวกันคือ "จำต้องฆ่า แม้ว่ายังรัก" ทั้งเสียใจและแสนเสียดาย เพราะนี่คือการสูญเสีย เป็นการเสียทั้งทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ
เรื่องราวมีอยู่ว่าสมาชิกท่านนี้ได้ทำการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มเพื่อให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สนองโครงการ "อาหารปลอดภัย" คนเลี้ยงปลอดภัย คนซื้อปลอดภัย คนขายปลอดภัย คนแปรรูปปลอดภัย และคนกินก็ปลอดภัย
หลังจากให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เจาะเลือดนำไปตรวจเพื่อพิสูจน์ทราบและวินิจฉัยโรค ว่าเป็นบรูเซลโลซิส (Brucellosis) หรือไม่ ผลปรากฏว่า เป็นผลลบ ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ เป็นอย่างยิ่ง เพราะสันนิฐานว่าเป็นโรคบรูเซลโลซิส และในจำนวนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ เป็นแพะท้องซะหลายตัว นั่นหมายถึง รายได้ในอนาคตที่จะได้รับจะต้องหลุดหายไปอย่างน่าเสียดาย เสียรายได้ เสียโอกาส และเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เพราะว่ามีแพะที่ตั้งท้อง ผู้เลี้ยงท่านนี้ไม่สามารถลบออกจากระบบได้ จะฆ่า ก็ฆ่าไม่ลง เพราะว่าแพะมันท้อง ดังนั้นจึงต้องเลี้ยงดูต่อไป และต้องลำบากจัดหาที่ทางเพื่อกักบริเวณ ไม่ให้มีโอกาสได้คลุกคลีกับแพะตัวอื่นๆ ปล่อยให้คลอดแล้วจึงค่อยลบ (Delete) ออกไปทั้งแม่ทั้งลูก
ด้านปัญหาสาธารณสุขที่ตามมาก็คือ โรคนี้เป็น"โรคสัตว์สู่คน"โรคสัตว์สู่คนแปลว่า ปกติแล้วเป็นในหมู่สัตว์แต่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ เมื่อเกิดขึ้นในคนแล้วจะไม่สามารถแพร่ไปสู่คนด้วยกัน นับว่าเป็นการสูญเสียกันยกใหญ่
ดังนั้น ต้องทำการตรวจโรคแพะก่อนทุกครั้ง จึงนำเข้าฟาร์ม ห้ามนำแพะที่ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด และตรวจทดสอบโรคปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย นี่คือการป้องโรคกันที่ดีเพราะว่า "โรคบรูเซลโลซิส ยังไม่มียารักษา"
รู้จักโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis)
โรคนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า "โรคแท้ง" หรื่อ "แท้งติดต่อ" หรือ"แท้งต่อเนื่อง" เพราะเมื่อเป็นโรคแล้วแพะมักจะมีอาการแท้งลูก (แพะเมื่อแท้งลูกแล้วในระยะหลังมักจะไม่พบการแท้งลูกอีก)
บรูเซลโลซิสในแพะมีสาเหตุจากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bruceela melitensis
แหล่งรังโรคคือ สัตว์ที่แท้งลูกพร้อมลูกสัตว์ สารคัดหลั่งต่างๆจากสัตว์ที่แท้ง จะทำให้บริเวณเลี้ยงสัตว์นั้นปนเปื้อน
การแพร่โรคจากฝูงหนึ่งไปอีกฝูงหนึ่งโดยมากเกิดจากการเคลื่อนย้ายสัตว์เป็นโรคที่ตั้งท้อง หรือ จากนำสัตว์พ่อพันธุ์เข้าฝูง
หรือบางครั้งอาจจะแพร่โรคโดยสุนัข โดยการกัด-แทะ และเคลื่อนย้ายซากลูกสัตว์ที่เป็นโรคไปตามที่ต่างๆ
เชื้อบรูเซลลา ถูกขับออกมาในน้ำนมได้นานเป็นปีหรือมากกว่า หลังจากสัตว์แท้งลูกสัตว์จะปล่อยเชื้อออกมาเป็นจำนวนมากในมดลูก สารคัดหลั่งที่ออกมาจากมดลูก และปัสสาวะ เป็นระยะ 1-3 วันหลังคลอด และจะปล่อยเชื้อได้นาน 4-6 เดือน
ในสัตว์ที่ไม่ตั้งท้องจะเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะเป็นตัวอมโรคและแพร่โรคได้ ส่วนตัวผู้มักพบอัณฑะอักเสบ
(สัตวแพทย์หญิงมนยา เอกทัตร์ กลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา )
การติดต่อของโรคบรูเซลโลซิส
1. โดยตรง เช่น การกิน, การสัมผัส
2. โดยอ้อม ไม่เจตนา แต่มาทางอากาศ เช่น การหายใจ ว้าว น่ากลัวจังเลย
โรคแท้งติดต่อ มีทางออก
โรคนี้ ติดทางสิ่งคัดหลั่งและการสัมผัส เช่น ผสมพันธุ์ เลีย ปัสสาวะ อุจจาระ
การตรวจ ใช้น้ำเลือด(ซีรั่ม) ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กทม. อยู่ในรั้วเดียวกันกับ ม.เกษตร อยู่ด้านหลังกรมป่าไม้
การตรวจที่ให้ผลลบ พอตรวจซ้ำให้ผลบวก นั้นไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของห้องแลบ แต่เป็นเพราะเจ้าเชื้อนี้มันสามารถหลบซ่อนได้ ทำให้เราเดี๋ยวเจอเดี๋ยวไม่เจอ อาจเป็นเหตุให้คนขัดแย้งกันได้
วิธีที่ใช้ตรวจนี้มีความไวมาก รู้ผลเร็ว และแนะนำให้ตรวจเดือนละ 1 ครั้งจนกว่าจะได้ผลลบทั้งฟาร์มติดกัน 3 ครั้ง จึงขยับไป อีก 6 เดือน และ 1 ปีได้ ที่ต้องตรวจเข้มขนาดนี้ เพราะว่ามันแพร่กระจายได้ง่าย ติดคนแล้วตายได้ และที่สำคัญมันหลบซ่อนในต่อมนำเหลืองได้เก่ง ถ้าเจอถือว่าโชคดีทีเดียว
อย่าได้เสียดายหรือเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ให้ตัดใจทำลายทิ้ง
อย่าขายต่อเพราะจะเป็นการทำร้ายกันเอง
คนต้องดูแลตัวเอง ด้วยหลักแห่งความสะอาดนั้นเพียงพอต่อการป้องกันตัว คนเชือดจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนกินสุก
เวลาเราไปเยี่ยมฟาร์มขอให้ช่วยกันจุ่มเท้าจุ่มล้อรถ
และอย่าจับแพะคนอื่นโดยไม่ล้างมือก่อนและหลัง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพในทรัพย์ของกันและกัน ค่ะ
ปล. ตรวจได้ทุกเพศทุกวัย ยกเว้น ลูกอายุต่ำกว่า 3 เดือน เพราะตรวจไปจะไม่เจอ
(พรหล้า, กระทู้ชุมทางแพะ)
ขอขอบคุณภาพจาก Skeptics Society และ fao
เขียนโดย Unknown ที่ 10:08 1 ความคิดเห็น
ป้ายกำกับ: บรูเซลโลซีส Brucellosis, โรคแพะ, สุขภาพแพะ