วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550

แพะพื้นเมือง Where are you?


หลังจากที่ตามหาพื้นเพของแพะพื้นเมืองกันแล้ว ทีนี้เรามาตามดูกันต่อดีกว่าว่าแพะพื้นเมืองยังสบายดีอยู่หรือ และอยู่กันที่ไหนบ้าง ยังเหลืออยู่กันกี่มากน้อย อนาคตจะเป็นเช่นไร จะยังคงดำรงเผ่าพันธุ์กันต่อไป หรือว่าค่อยๆ ถูกกลืนหายไปกับการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ด้วยการผสมข้ามกับแพะพันธุ์ต่างถิ่นตามสมัยนิยมของนอก แล้วเรียกว่าเป็นการผสมพันธุ์แบบพัฒนาเพื่อยกระดับสายเลือดขึ้นไป ฟังแล้วรู้สึกดี และชื่นชมที่เกษตรกรบ้านเรารู้จักการพัฒนายกระดับสายพันธุ์ให้ดีขึ้นเพื่อวงการแพะบ้านเราจะได้ก้าวทันต่างชาติซะที

ในอดีตแพะมักจะได้รับความสนใจน้อยมากเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ การศึกษาและวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และประสิทธิภาพในการผลิตของแพะแทบจะไม่มีเลย ความสามารถในการผลิตของแพะพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ที่มีอยู่ก็เป็นผลมาจากการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าเราจะสามารถบอกถึงความแตกต่างระหว่างลักษณะภายนอกของแพะแต่ละพันธุ์ได้ แต่ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการผลิตของแต่ละพันธุ์ เช่นลักษณะการสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต การผลิตนม โรคและพยาธิแทบจะไม่มีเลย (เอกชัย พฤกษ์อำไพ)

ดร.สรศักดิ์ คชภักดี ได้เขียนลงหนังนิยสารสัตว์บกเอาไว้ในเรื่อง ควรจะเลี้ยงแพะเนื้อพันธุ์อะไรดีว่า แพะพื้นเมืองไทย ที่เป็นพื้นเมืองแท้ก็หายากเช่นกัน เพราะมักจะผสมกับพ่อพันธุ์บอร์หรือพันธุ์แองโกลนูเบียน เท่าที่ทราบปัจจุบันมีอยู่ฝูงหนึ่งมีแพะประมาณ 100 ตัว เลี้ยงอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร แพะพื้นเมืองฝูงนี้เป็นแพะที่ซื้อเข้ามาเป็นแม่พันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2528 และยังไม่มีการผสมข้ามกับแพะพันธู์อื่นๆ แพะพื้นเมืองไทยจากแหล่งอื่น ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันก็มีอยู่บ้าง แต่ผสมปนเปอยู่ในฝูงของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่นานอาจหมดไป เพราะแพะเหล่านี้ถูกผสมกับพ่อพันธุ์บอร์หรือแองโกลนูเบียน ลูกที่ได้ก็จะไม่เป็นพื้นเมืองอีกต่อไป ส่วนแม่แพะพื้นเมืองเมื่อถึงอายุไข (ประมาณ 8-10 ปี) ก็จะถูกคัดออกเพื่อจำหน่ายเป็นแพะเนื้อ

ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา บุคคลหลายกลุ่มได้ตระนักถึงความสำคัญของแพะ ได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับแพะอย่างกว้างขวางในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตามมีกลุ่มบุคคลอยู่ไม่น้อยที่พยายามยกระดับความสามารถในการผลิตของแพะโดยหวังผลในระยะเวลาอันสั้นด้วยการนำแพะพันธุ์อื่นเข้ามาผสมข้ามกับแพะพันธุ์พื้นเมืองเดิม ทั้งๆที่ไม่ได้ศึกษาให้แน่ชัดว่า พันธุ์พื้นเมืองเดิมนั้นมีคุณลักษณะที่ดีอย่างไรบ้าง จึงน่าเป็นห่วงว่าในที่สุดแล้วเราอาจสูญเสียแพะพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ดีไปหมดโดยไม่ทัีนรู้ตัว (เอกชัย พฤกษ์อำไพ)

ขอขอบคุณภาพจากคู่มือการเลี้ยงแพะ กรมปศุสัตว์,เอกชัย พฤกษ์อำไพ คู่มือแพะ, ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี นิตยสารสัตว์บก

Read More......

พื้นเพ แพะพื้นเมือง


ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ควรเริ่มต้นจากแพะพันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะดี เพราะมีข้อดีหลายประการ เช่น สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งปีและเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพแวดล้อมของประเทศเรา ซึ่งสามารถปรับตัวเข้าสภาพแวดล้อมได้ดีอยู่แล้ว เลี้ยงดูง่าย ทนทานต่อโรคและพยาธิ และมีราคาที่ไม่แพงเหมือนแพะพันธุ์จากต่างประเทศ

เชื่อว่าคำตอบข้างต้นนี้ จะเป็นคำตอบที่มือใหม่จะได้รับจากการถามไถ่ออกไปแทบจะทุกรายไป ถ้าท่านไม่เชื่อก็ลองโพสถามคุณกู เกิ้ลดู หรือลองโพสถามไปตามกระดานถามตอบต่างๆ ว่าเราควรจะเริ่มต้นอย่างไรกับการเลี้ยงแพะ เพราะยังไม่เคยเลี้ยงเลย เกิดมาก็เพิ่งจะรู้จักแพะจากตรงนี้แหละ อะไรประมาณนั้น รับรองได้ว่าคำตอบที่ได้ไม่ผิดไปจากคำตอบข้างต้นมากนัก เชื่อขนมกินได้

บางท่านอาจจะเสริมไปว่า "ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน บวกกับวัตถุดิบที่มีในถ้องถิ่นเช่นพืชสมุนไพรต่างๆ มากมาย ที่มีให้แพะพื้นเมืองได้กินเป็นอาหาร ย่อมทำให้แพะที่เลี้ยงมีสุขภาพดียิ่งขึ้นไปอีก"

จากคำตอบต่างๆ ที่หลายๆ ท่านได้ช่วยกันให้คำตอบมานั้นแสดงว่า "แพะ" เป็นสัตว์ที่มีถิ่นเกิดอยู่ในประเทศไทยอยู่แต่เดิม เรียกได้ว่าแพะเป็นสัตว์ประจำถิ่น ประจำบ้าน ประจำเมือง หรือแพะท้องถิ่น แพะพื้นบ้าน แพะพื้นเมือง ก็ว่าได้

แต่ในชิวิตจริงกว่าที่ผมจะได้รู้จักแพะตัวเป็นๆ ก็ตอนที่โตเป็นหนุ่มแล้ว และได้มีโอกาสดินทางไปที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ขณะที่ขับรถไปตามเส้นทางสู่อำเภอเบตง เพื่อนที่นั่งไปด้วยในรถ ได้บอกเตือนให้ระวังแพะ เดี๋ยวจะไปชนแพะชาวบ้านเข้า รับรองไปไหนไม่ได้แน่นอน และก็คุยกันไม่รู้เรื่องด้วย ผมเลยถามไปว่าทำไมคุยไม่รู้เรือง เพื่อนตอบว่า เขาไม่พูดภาษาไทย และแพะของเขาก็เปรียบได้กับวัวของเราเชียวล่ะ แสดงว่าแพะเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสำหรับผู้คนถิ่นนั้น

ออกนอกเรื่องไปอีกแล้ว ผมพยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนเพิ่มเติมก็หาไม่ได้ว่าแพะ เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น หรือมีทั่วไปของประเทศ สุดท้ายก็ต้องถามคุณกู อันนี้เราต้องยอมรับว่าในโลกของไซเบอร์คุณกู เกิ้ล เขาไม่ใช่ย่อย ก็ได้คำตอบค่อนข้างเป็นที่พอใจจากรายงานการวิจัยของ ดร.วินัย ประลมพ์การญจ์ ดังต่อไปนี้

"ตามหลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับประวัติการเลี้ยงแพะในประเทศไทย หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ รายงานปี พ.ศ. 2491 ว่าแพะที่เลี้ยงในประเทศไทยในขณะนั้นเข้าใจว่าเป็นแพะเลือดอินเดีย บางคนเรียกว่า แพะบังกะลา ซึ่งอาจหมายความว่าเป็นแพะที่มาจากเมืองบังกะลาหรือเบงกอล แพะที่เลี้ยงมีเขา หน้าโค้ง หูตก และหูยาวทั้งนั้น ยังไม่พบพันธุ์ที่ไม่มีเขา หูตั้งและหน้าตรง

แพะพื้นเมืองที่เลี้ยงอยู่ในภาคใต้เป็นแพะเนื้อ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแพะพันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเรียกว่าพันธุ์แกมบิง กั๊ตจัง (Kambing Katjang หรือ Katjang หรือ Kacang)"

นอกจากนี้แพะที่เลี้ยงกันแถบตะวันตก เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดนครสวรรค์ เข้าใจว่าเป็นแพะที่มาจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ เข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางประเทศเมียนมาร์ มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าแพะทางใต้ แพะกลุ่มนี้มีใบหูปรกยาวมาก ขายาว ผอมเก้งก้าง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "แพะพม่า" หรือ "แพะหูยาว"(ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี)

หวังว่าท่านที่อุตส่าห์ตามอ่านจนถึงตรงนี้แล้วคงจะได้คำตอบอะไรบ้าง เกี่ยวกับ"แพะพื้นเมือง" ถ้าท่านใดมีข้อมูลที่ใหม่กว่านี้ ก็แลกเปลี่ยนกันเข้ามาได้ครับ ขอขอบคุณภาพจาก คู่มือการเลี้ยงแพะ ของกรมปศุสัตว์ ณ ตรงนี้ไว้ด้วย

Read More......

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เลี้ยงแพะนานแค่ไหนถึงจะคืนทุน


เงินทองเป็นของนอกกาย ขวนขวายแทบตายกว่าจะได้มา สิบบาท ร้อยบาท พันบาท ก็ต้องลงทุนไปถึงจะได้มา บางคนลงทุนแรงกาย บางคนลงทุนสมอง บางคนลงทุนแบมือขอออกไปถึงจะได้มา


"ลำบากแทบตาย" บางคนแย้ง หรือบางคนอาจบอกว่า "เน็ดเหนือยแทบตาย" จะอย่างไรก็ตาม เรามาว่ากันต่อในเรื่องของการใช้เงินกับการประกอบอาชีพใหม่ กับสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เรียกว่า "แพะ" สำหรับชุมทางแพะ อาจจะไม่ใหม่เท่าไร แต่รับประกันได้ว่า แพะ ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยอีกหลายๆ คน เพราะหลายคนยังไม่เคยเคยแพะตัวเป็นๆ เลย

เอาล่ะ ตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะเลี้ยงแพะ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเลี้ยงแพะไปตลอดชีวิต และก็คิดว่าผลผลิตจากแพะจะต้องกลับมาเลี้ยงเราบ้างในเร็ววัน แล้วในเร็ววันนั้น เร็วแค่ไหน หร้อว่านานเพียงใด และต้องเริ่มต้นที่ตรงไหน เริ่มที่แพะกี่ตัว มีอะไรบ้างที่จะต้องจ่าย งบประมาณเริ่มต้นกี่มากน้อย และที่แน่ๆ กี่ปีคืนทุน

อันตัวเรา ก็เป็นเพียงเกษตรกรธรรมดา ฐานะก็ธรรมดาๆ เงิน มันคือสิ่งที่มีคุณค่าและมีมูลค่า มันทำให้เรามีเกียรติยศ มีชื่อเสียง และมีความมั่นคงในชีวิต และตอนนี้มันได้ล้อมจับเราเอาไว้หมดทุกด้านแล้ว และร้องเรียกให้เราออกไปมอบตัวซะโดยดี แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อประกันได้ว่าเราจะได้เป็นอิสระ หรือมีอิสระตามอัตภาพ

คำตอบพอประมวลได้ว่า ก็ควรลงทุนตามอัตภาพ ไม่มากเกินไปนัก ควรลงทุนเบื้องต้นประมาณ 100,000 บาท (สิบหมื่น) ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี ด้วยการสร้างโรงเรือนแบบชั่วคราวถูกๆ รายละเอียดขอยกตัวอย่างฟาร์มแพะของโครงการหนึ่งฟาร์มหนึ่งตำบลมาให้ดูก็แล้วกัน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งฟาร์ม(ตัวอย่าง) สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรแต่ละอำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดทำขึ้นเพื่อสาธิตการทำการเกษตรในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเป็นฟาร์มตัวอย่างให้เกษตรกรได้ศึกษา และใช้เป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรตามหลักวิชาการ

โครงการนี้ใช้พื้นที่ 25 ไร่ปลูกหญ้าเป็นพืชอาหารสัตว์ เลี้ยงแพะ 25 ตัว (แม่พันธุ์ 23 ตัว พ่อพันธุ์ 2 ตัว) โรงเรือนแบบชั่วคราวหลังคามุงจากหรือหญ้าคา ขนาด 4X6 เมตร ประมาณการรายรับรายจ่ายดังต่อไปนี้

รายรับจะได้รับในที่ 2 ไปแล้ว จากการขายลูกแพะ โดยแม่แพะ 23 ตัว คลอดลูกปีละ 1 ตัว เท่ากับ 23 ตัว ขายหมดตัวละ 1,500 บาท เท่ากับ 34,500 บาท ดังนั้นสมารถคืนทุนได้ในปีที่ 3

ส่วนรายจ่ายประกอบด้วย
-สร้างโรงเรือน 4,650
-ซื้อแม่พันธุ์แพะ 68,310
-ซื้อพ่อพันธุ์แพะ 9,000
-ค่าวัคซีน/เวชภัณฑ์/อื่น ๆ 1,200
-อาหารเสริม 2,400
-ค่าดูแลรักษา 7,200
-แปลงหญ้า 1,240
รวม 94,000 บาท

เป็นอย่างไรบ้างครับ คิดว่าพอจะเป็นแนวทางในการปรับ ประยุกต์ใช้ได้ตามอัตภาพก็แล้วกัน

Read More......

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550

"น้องกาย"(Guy) แพะโคลนนิง ฝีมือคนไทย


ดร.ประสาท สืบค้า อธิบการบดี มทส.(ซ้าย) และดร.รังสรรค์ พาลพ่าย (ขวา) อวด "น้องกาย" ลูกแพะโคลนนิงที่กำเนิดจากการโคลนด้วยเซลล์ต้นกำเนิดจากใบหูเป็นรายแรกของโลก

มทส.โชว์ “น้องกาย” ลูกแพะโคลนนิงจากเซลล์ใบหูตัวแรกของโลก และนับเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่สามารถโคลนแพะได้สำเร็จ "ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย" เจ้าของผลงานเตรียมโคลนให้ครบ 20 ตัวในปี 2550 พร้อมต่อยอดโคลน "เลียงผา" สัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เผยถึงความสำเร็จในการโคลนนิงแพะจากเซลล์ใบหูของแพะพันธุ์บอร์ซึ่งเป็นพันธุ์เนื้อ โดยได้ลูกแพะเป็นเพศผู้ที่ผ่าตัดทำคลอดเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นรายที่ 4 ของโลกที่โคลนนิงแพะสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังเป็นแพะตัวแรกของโลกที่กำเนิดด้วยการโคลนนิงโดยใช้เซลล์จากใบหู ซึ่งโดยปกติในต่างประเทศจะใช้เซลล์จากลูกอ่อน (Fetus) ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่อยู่ในมดลูก ทว่าทีมวิจัยจะได้โคลนนิงด้วยวิธีหลังเพื่อเปรียบเทียบด้วย

สำหรับแพะโคลนนิงวัย 1 เดือนกว่านี้ได้รับชื่อจากการประกวดว่า "น้องกาย" (Guy) ซึ่งสื่อความหมายถึงเพศผู้ในภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ ดร.รังสรรค์และทีมวิจัยได้นำเซลล์ใบหูของแพะพันธุ์บอร์เพศผู้ไปเก็บไว้ในธนาคาร จากนั้นเก็บไข่จากแพะเพศเมียที่เลี้ยงไว้สำหรับผลิตไข่โดยเฉพาะ ไปดูดเอานิวเคลียสออกและนำเซลล์ต้นแบบจากใบหูของแพะเพศผู้ใส่ลงในไข่ดังกล่าว แล้วเชื่อมด้วยกระแสไฟฟ้าก่อนนำไปฝากไว้กับแพะเพศเมียอีกตัวที่เลี้ยงไว้สำหรับอุ้มท้องโดยเฉพาะ

ดร.รังสรรค์ เปิดเผยว่า มีการย้ายฝากตัวอ่อนตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2549 โดยหลังจากผ่านไป 150 วันแล้วยังไม่การคลอดโดยวิธีธรรมชาติ ทางทีมวิจัยจึงตัดสินใจผ่าตัดเพื่อทำคลอดในวันที่ 153 ของการตั้งท้อง

"ที่เลือกวิธีโคลนนิงด้วยเซลล์ต้นแบบจากใบหูนั้น เพราะทีมวิจัยมีความชำนาญวิธีนี้เป็นพิเศษ โดยที่ผ่านมาได้โคลนิงวัว แมวด้วยเซลล์จากใบหูมาโดยตลอด และเก็บเซลล์จากต้นแบบได้ง่ายเพราะไม่ทำให้สัตว์บาดเจ็บ" ดร.รังสรรค์อธิบาย

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมาทีมวิจัยยังได้ผ่าตัดทำคลอดให้แพะเพศเมียอีกตัวที่ทำโคลนนิงด้วยเช่นกัน แต่ในเช้าวันที่ 6 ก.ค.ลูกแพะได้เสียชีวิตลง เบื้องต้นได้ผ่าซากพิสูจน์ และพบการขยายตัวของปอดที่ผิดปกติ แต่สัตวแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด และต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการอีกที เนื่องจากยังระบุไม่ได้ว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นผลขณะมีชีวิตอยู่หรือหลังจากเสียชีวิต

จากความสำเร็จในครั้งนี้ ดร.รังสรรค์เผยว่า ทีมวิจัยตั้งเป้าจะโคลนนิงแพะให้ได้ครบ 20 ตัวภายในปี 2550 และจะต่อยอดโคลนนิง “เลียงผา” หรือ “แพะภูเขา” ซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์เนื่องจากถูกล่าเพื่อนำมาทำน้ำมันใช้เป็นยาบรรเทาปวดตามความเชื่อ โดยสัตว์ทั้ง 2 ชนิดอยู่ในตระกูลเดียวกัน

ภาพและข่าวจากผู้จัการออนไลน์ 6 กรกฎคม 2550

พอดีคิดถึงแกะดอลลีและอยู่ระหว่างการค้นหาข้อมูล ก็ได้ชมข่าวคราวความสำเร็จของคนไทยระดับโลกอีกคนหนึ่ง ก็ถือโอกาสนำมาเผยแพร่ต่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลกว่าไทยเรานี้มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตแพะ

และในอนาคตถ้าหากว่ามีการอนุญาตให้เราสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตจริงได้แล้วประเทศไทยคงจะทัดเทียมและแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณอย่างแน่นอน

จากผลสำเร็จในครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นผลดีและความก้าวหน้าทางวิวัฒนาการ หรือว่าเป็นผลข้างเคียงต่อวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาค

Read More......

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2550

แผ่นตรวจสอบโรคโลหิตจาง Anaemia Guide



การเลี้ยงแพะขณะนี้กล่าวได้ว่ากำลังได้รับความสนใจเลี้ยงกันมากขึ้น ทั้งจากจำนวนคนเลี้ยงและจำนวนแพะที่เลี้ยง หลายๆ คนเลี้ยงแล้วก็สะดวกราบรื่นดี หลายๆ คนก็มักประสบกับปัญหาอยู่ตลอด สาเหตุเพราะผู้เลี้ยงแพะส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือเอาใจใส่กับสุขภาพของแพะมากนัก เพราะมักเข้าใจว่าแพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินง่าย อยู่ง่าย แต่ลืมไปว่า แพะก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่เจ็บได้ ป่วยได้ แต่พูดไม่ได้ และก็ตายได้ง่ายๆ ด้วยเช่นกัน
ดังนนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพแพะทุกวัน เช่น ลองเอาหูของเราไปแนบฟังตรงท้องแพะดูบ้างว่ามีเสียงผิดปรกติหรือไม่ หรือมีกลิ่นผิดปรกติจากแพะหรือเปล่า ปัญหาสุขภาพแพะของบ้านเราหลักๆ แล้วก็มักจะเป็นพยาธิ ที่ทำความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงเป็นจำนวนมาก ทั้งพยาธิภายนอก และพยาธิภายใน พยาธิภายนอก และแมลงรำคาญต่างๆ ก็ได้แก่พวก เห็บ หมัด ไร ยุง เป็นต้น ส่วนพยาธิภายใน ได้แก่ พยาธิภายในกระเพาะ และภายในลำใส้ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด เป็นต้น ซึ่งเมื่อแพะเป็นพยาธิขั้นรุนแรงแล้วสามารถทำให้แพะตัวนั้นตายได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นต้องสามารถตรวจสุขภาพแพะเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาได้ทัน การตรวจสอบเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด ก็คือการตรวจที่สีผิวของอวัยวะเพศ หรือที่สีผิวของเปลือกตาแพะ โดยเปรียบเทียบกับแผ่นตรวจซีด หรือแผ่นตรวจสอบโรคโลหิตจาง ด้วยการเทียบสีของเปลือกตาแพะตามระดับหมายเลขต่างๆ ดังต่อไปนี้ หมายเลข 1 สีเยื่อเมือปติ บ่งชี้ว่าสัตว์สุขภาพดี และให้เฝ้าติดตามปัญหาพยาธิ และโลหิตจาง ทุกๆ 4-6 เดือน หมายเลข 2 สีเยื่อเมือกซีดเล็กน้อย แนะนำให้อาหารคุณภาพดี และมีการกำจัดตัวอ่อนพยาธิในแปลงหญ้า โดยการพักแปลงหญ้าอย่างน้อย 3 เดือน หมายเลข 3 สีเยื่อเมือก ซีดจางปานกลาง บ่งชี้ให้ถ่ายพยาธิและเสริมแร่ธาตุผสมอาหาร ที่มีธาตุเหล็ก ทองแดง โคบอลต์ จนกว่าสีเยื่อเมือกจะเป็นปกติ และเข้มงวดกับการจัดเก็บทำลายมูลสัตว์ และพักแปลงหญ้าอย่างน้อย 3 เดือน หมายเลข 4 สีเยื่อเมือกซีดจางมาก แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันปัญหาดื้อยาถ่ายพยาธิ และหากสีเยื่อเมือกไม่กลับสู่ปกติหรือดีขึ้นภายใน 1 เดือน ให้ทำการคัดทิ้งได้เลย ขอขอบคุณแผ่นตรวสอบโรคโลหิตจางจากคุณหมอพรหล้า โครงการฟาร์มดี โดยคลินิกฟาร์มดี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ชุมทางแพะสัญจรครั้งแรก ที่เทวาฟาร์ม อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2550

Read More......